- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 01 October 2017 19:36
- Hits: 9019
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – สิงหาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,132,067 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,961 ล้านบาท มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์”
นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับการติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เป็นไปตามประมาณการ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเชื่อมั่นว่าตลอดทั้งปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – สิงหาคม 2560) และเดือนสิงหาคม 2560
1. ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – สิงหาคม 2560) (ตารางที่ 1)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,132,067 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2 โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีก่อนมีรายได้พิเศษ เช่น การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) การชำระภาษีการพนันของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งหากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ผลการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,589,191 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 67,774 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 33,139 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 678,783 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,400 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 5.7 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.6
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 39,097 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,903 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.9 และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยของปี 2559 ต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ ทำให้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง
- อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 11,401 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 โดยสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) และภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 516,846 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,547 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.9 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 20,789 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.5 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,023 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 โดยสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.0
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 96,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,551 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.3 หรือต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.6 โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 14,597 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 หรือต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 เนื่องจากมูลค่าต้องอากรลดลง สอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรระยะที่ 2 สูงกว่าที่ประมาณการไว้
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 145,451 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 22,301 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.1 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า ประกอบกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่า ประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ และบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 156,011 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 29,907 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.7 แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 44.5 สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน
กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 8,724 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,886 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.8 โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการ 2,211 ล้านบาท หรือร้อยละ 492.5 สาเหตุมาจากการปรับปรุงค่าเช่าสนามบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการเปิดประมูลให้ใช้ที่ในท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้ รายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้ สูงกว่าประมาณการ 458 ล้านบาท หรือร้อยละ 54.5
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 261,389 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 187,231 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 37,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.7 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 74,158 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,869 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.8
1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 9,036 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 114 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 13,912 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.1
1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 15,492 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 943 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7
1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 8 งวด เป็นเงิน 72,152 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 242 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3
2. เดือนสิงหาคม 2560 (ตารางที่ 2)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 219,028 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,104 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.6 เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการ 5,499 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 ส่วนหนึ่งจากสัดส่วนการยื่นภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขยายเวลาถึงเดือนกันยายน 2560 ที่เพิ่มมากขึ้น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 2,589 ล้านบาทหรือร้อยละ 49.5 และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.2 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,419 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.4 อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมันภาษีเบียร์ และภาษีสุราสูงกว่าประมาณการ 2,598 1,913 และ 906 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 26.2 และ 17.9 ตามลำดับ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3555
สศค. เผยเศรษฐกิจภูมิภาคส.ค.โตต่อเนื่อง หลังบริโภคเอกชนฟื้น นำโดยภาคใต้-ตะวันออก-กทม.ปริมณฑล
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคว่า ในเดือนสิงหาคม 2560 เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคใต้ ภาคตะวันออก และกทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งในสำหรับภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 5.9% ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 42.9% ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ
สำหรับ ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 3.9% และ 13.1% ต่อปีตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวจากผลผลิตยางพารา และกุ้ง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ส่วนภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 13.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 2.5% และ 11.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และผลไม้ เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 2.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
สำหรับ กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 15.2% ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 121.1% ต่อปี ตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 4.0% และ 13.0% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในจังหวัดที่ 1.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 6.8% ต่อปี ในจังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ และหนองบัวลำภู สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 2.0% และ 8.1% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาค 2.7% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และสุโขทัย เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 2.0% และ 8.9% ต่อปี ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ และพิษณุโลก เป็นต้น สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 ลดลงมาอยู่ที่ -0.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 7.8% ต่อปี ในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 5.1% และ 8.8% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และสับปะรด เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนการเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2560 ขยายตัว 4.0% และ 7.5% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ มีการลงทุนพิ่มในจังหวัดจังหวัดสระบุรีในโรงงานผลิตคอนกรีต เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
อินโฟเควสท์