- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 07 August 2017 19:44
- Hits: 5904
แก้กม.คุมกองทุนหมุนเวียน ดึงเงินส่วนเกินเข้าคลังไปพัฒนาชาติ
แนวหน้า : นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังเปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นว่าปัจจุบันกองทุนหมุนเวียนภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลางมีทั้งสิ้น 116 กองทุนมีสินทรัพย์รวม 3.7-3.8 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์ขนาดค่อนข้างใหญ่ มากกว่างบประมาณรายจ่ายที่มี 2.9 ล้านล้านบาทดังนั้นกระทรวงการคลังจะต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ล่าสุดพ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียนได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว โดยหลักการของพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น กำหนดทั้งจุดประสงค์ในการจัดตั้ง และเพดานวงเงินของกองทุน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำช่วยเหลือด้านเกษตร เอสเอ็มอี เป็นต้น โดยการทำงานต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการที่ดี ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการควบคุมการจัดตั้งจะต้องมีคณะกรรมการกองทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาการจัดตั้งกองทุนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่วงเงินที่มีในกองทุนจะต้องจำกัดวงเงินโดยมีสูตรการคิดคำนวณว่าแต่ละกองทุนควรมีจำนวนเงินเท่าไร หากเงินเหลือส่วนเกินจะต้องนำเข้าคลัง เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป
"ที่ผ่านมาก็มีคณะกรรมการคอยพิจารณากลั่นกรองสำหรับกองทุนที่ไม่เคลื่อนไหว หรือ Active จะสอบถามไปยังหน่วยงานว่าจำเป็นอยู่หรือไม่ หากไม่จำเป็นอาจเสนอให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณายกเลิกกองทุน และยังมีการแปลงกองทุนไปกระทรวงอื่นก็สามารถทำได้ เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์ ซึ่งแต่ละกองทุนจะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" นายอภิศักดิ์กล่าว
รมว.คลังกล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีคณะกรรมการปฏิรูป 10 คณะ ดังนั้นในระยะต่อไปการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนและการทำงานจะต้องสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด ขณะที่เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายระยะสั้นมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เป็นประเทศกำลังพัฒนา และไม่สามารถคิดหานโยบายดูแลประเทศใน ระยะยาวได้ ทำให้รัฐบาลในปัจจุบันเร่งส่งเสริม ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นจุดเปลี่ยนและส่งเสริมการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อให้เป็นไปตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ ระบุว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้าไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
"ยอมรับว่า ไทยยังอ่อนการวิจัยและพัฒนา เรายังไม่สามารถคิดอะไรที่เป็นของตัวเองได้ ดังนั้นหลังจากนี้เราจะต้อง เร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดขึ้นเช่นสตาร์ทอัพจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นเร็ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องให้โอกาส เพราะสิ่งที่เขาคิดอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจได้" นายอภิศักดิ์ กล่าว