- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 26 May 2017 11:37
- Hits: 5180
กรมบัญชีกลาง แจงเหตุไม่ใช้บัตรประชาชน แทนบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาล เพราะป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลข้าราชการ ชี้เป็นการต่อยอด 'โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ'นำแนวทางบัตรเครดิตมาประยุกต์ใช้ แจงเหตุไม่ใช้บัตรปชช.เพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่ประธานเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางทักท้วงโครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลของข้าราชการที่กรมบัญชีกลางกำลังดำเนินการอยู่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ด้วยข้ออ้างว่าต้องการแก้ปัญหาทุจริตของข้าราชการบางคน แต่ คสร.เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าคนไทย 1 ใบก็พอ จึงได้ยื่นหนังสือถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 4 ประเด็น ดังนี้
(1) ความคืบหน้าและแผนในการดำเนินการเรื่องการทำบัตรประจำตัวผู้ป่วยโครงการเบิกจ่ายตรง
(2) มีข้อดีและข้อเสีย ต่างจากที่ได้มีการพัฒนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสมาร์ทการ์ด และมีนโยบาย “คนไทย 1 ใบก็พอ” อย่างไร
(3) กองทุนสุขภาพ สปสช. และ สปส.ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอย่างเดียวในการระบุตัวตนเพื่อรักษาพยาบาล เหตุใดกรมบัญชีกลางจึงสวนกระแสใช้บัตรอื่นเพิ่มเติม และไม่สอดคล้องกับนโยบายการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ
(4) จากกรณีที่กรมบัญชีกลางชี้แจงว่าต้องใช้งบประมาณในการทำบัตร 50 ล้านบาท สำหรับผู้มีสิทธิ 5 ล้านคน นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกหลายประเด็นในการบริหารจัดการ แล้วได้ประเมินค่าใช้จ่ายเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร และมีมูลค่าจำนวนเท่าใด
อธิบดีกรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า 'โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ' เป็นการต่อยอด'โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ'โดยนำหลักการทำงานของบัตรเครดิตมาประยุกต์ใช้ ซึ่งบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวบุคคล ทดแทนการลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาล โดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถใช้บัตรดังกล่าว เพื่อประกอบการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอเวลาการประมวลผลข้อมูลตามระบบเดิม อีกทั้งบัตรนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางในระบบเบิกจ่ายตรงด้วย ซึ่งการนำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาใช้ นอกจากจะช่วยให้กรมบัญชีกลางสามารถรับรู้ข้อมูลและค่าใช้จ่ายการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทันทีภายในวันเดียวกันแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงอีกด้วย
สำหรับ ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกรมบัญชีกลางจึงไม่นำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card มาใช้เพื่อพิสูจน์ตัวตนเช่นเดียวกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวกรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า สปสช. นำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card มาใช้เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวตนก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางในระบบเบิกจ่ายตรงเช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
นอกจากนี้ บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card ตามกฎหมาย ว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนเป็นบัตรที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำดังกล่าวจะต้องไม่เปิดเผยต่อบุคคลหรือหน่วยงานซึ่งมิใช่ผู้จัดทำหรือรวบรวมข้อมูลนั้นได้ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงยังไม่สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card มาใช้ในโครงการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลางได้แล้ว กรมบัญชีกลางก็จะนำบัตรประชาชนดังกล่าวมาใช้ทดแทนการออกบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่อไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการออกบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยในเบื้องต้นจะคัดเลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2560 ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นเงินเท่าไร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย