- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 13 August 2014 23:50
- Hits: 2807
10 ปีไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน PwC แนะรัฐจับมือเอกชน
แนวหน้า : 10 ปีไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน PwC แนะรัฐจับมือเอกชน ลดภาระหนี้สาธารณะ
นาย ชาร์ล ออสทริคส์ หุ้นส่วน บริษัท PwC (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Capital project and infrastructure spending: Outlook to 2025 ซึ่ง PwC จัดทำร่วมกับ Oxford Economics โดยทำการสำรวจและคาดการณ์การใช้จ่าย-ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 49 ประเทศใน 6 ทวีปมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)โลกพบว่า แนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ ระหว่างปี 2557-2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 78 ล้านล้านดอลล่าร์ (1 ดอลล่าร์ = 32.19 บาท)หรือประมาณ 2,500 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี
ปัจจัยผลักดันสำคัญประกอบด้วย 1) ความพร้อมของแหล่งเงินทุนของภาครัฐในตลาดเกิดใหม่ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นเส้นทางคมนาคมขนส่ง บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น ทำให้ภาครัฐต้องลงทุนด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มเพื่อดูแลผู้สูงวัย 3) การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองที่ทำให้เกิดการลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ 4) กรอบนโยบายและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นตัวกำหนดรูปแบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน
แนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศอินโดนีเซียจะมีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ 1.65 แสนล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 5.3 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ ไทย คาดมีการลงทุน 5.85 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท ตามด้วยเวียดนาม ที่คาดจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5.6 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือราว 1.8 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะประเทศไทยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้จ่ายภาคคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง(High-speed rail project)ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 3.2 หมื่นล้านดอลล่าร์หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในช่วง 7 ปีข้างหน้า
“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของไทยระยะเวลา 8 ปี หรือระหว่างปี 2558-2565 ซึ่งมีมูลค่าวงเงินลงทุนสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะกลาง”นายชาร์ลกล่าว
รูปแบบการลงทุนควรเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐขนาดใหญ่ และจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) เพราะจะช่วยเพิ่มคุณภาพและช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานทั้งต่อรัฐเอง และเอกชนผู้ร่วมลงทุน ขณะที่ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของการได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ หนี้สาธารณะไม่เพิ่มสูงขึ้นจนบริหารจัดการไม่ได้และเพิ่มศักยภาพการให้บริการความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการ เพิ่มอำนาจรัฐในการพัฒนาประเทศในส่วนอื่นๆ
นายชาร์ลย้ำว่า ประเทศไทยต้องเร่งสรุปแผนและแนวทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่งให้ชัดเจนก่อนการเปิดประชาคมอาเซียน(เออีซี)ปลายปี 2558 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่งและการเดินทางเข้า-ออกทั้งในและระหว่างประเทศให้ทัดเทียมเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปรค์และมาเลเซีย เพื่อยกระดับขีดความสามรถในการแข่งขัน