- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 12 April 2017 22:06
- Hits: 18262
สบน.เผยหนี้สาธารณะคงค้าง ก.พ.60 อยู่ที่ 6.09 ล้านลบ. เพิ่มขึ้น 3.05 หมื่นลบ.คิดเป็น 41.96% ของจีดีพี
สบน.เผยหนี้สาธารณะคงค้างเดือนก.พ.60 อยู่ที่ 6.09 ล้านลบ. เพิ่มขึ้น 3.05 หมื่นลบ.คิดเป็น 41.96% ของจีดีพี แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ที่ 41.97% ของจีดีพี ปลื้มบริษัทจัดเครดิต JCR คงเรตติ้งตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินตปท. ไว้ที่ A- และสกุลเงินบาทที่ A ชี้ พื้นฐานศก.แกร่ง พร้อมจับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย และเทรนด์ดบ.เฟด ชี้ 11 พ.ค.นี้ เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นใหม่ 15,000 ลบ. พร้อมทำ 'Bond Switching'วงเงิน 9 หมื่นลบ. ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.นี้
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวน 6,090,230.67 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4,637,934.90 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 972,466.27 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 460,477.61 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานของรัฐ 19,351.89 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 30,586.06 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คิดเป็นร้อยละ 41.96 ของ GDP ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 ที่ร้อยละ 41.97
โดยหนี้รัฐบาล จำนวน 4,637,934.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 40,963.49 ล้านบาทโดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 46,889.03 ล้านบาท ขณะที่เงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้น 50,279.03 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,503.66 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว , การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างทางคู่ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต
นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยที่ระดับ A- สกุลเงินบาทที่ระดับ A และคงเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ระดับ A+ โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook)
สะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออก ความมีเสถียรภาพของภาคธนาคาร สถานะทางการคลังที่เข้มแข็ง ตลอดจนดุลยภาพภายนอกที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ JCR ยังคาดว่าการเดินหน้าปฏิรูปเชิงโครงสร้างของรัฐบาลปัจจุบัน ประกอบกับการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2560
JCR ประเมินว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยจะจัดขึ้นภายหลังจากการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ โดย JCR จะติดตามความคืบหน้าในกระบวนการเลือกตั้งและสถานการณ์ความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการเพื่อการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลต่อไป
ด้านนางสาวอุปมา ใจหงษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สบน.จับตาดูแลสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่งผลให้ตลาดทุนและตลาดเงินโลกมีความผันผวนรุนแรง นอกจากนี้รมว.คลังยังต้องการให้สบน.พิจารณาการระดมทุนอย่างรอบคอบให้มากที่สุดในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนด้วย
สำหรับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศมาไทยแล้ว 70,000 ล้านบาท และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้า 10,000 ล้านบาท โดยพบว่า ในขณะนี้มีเงินทุนไหลเข้ามายังประเทศเกิดใหม่ เอเชียและไทย โดยเฉพาะไทยที่นักลงทุนมองว่า เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมีความเข็มแข็ง ทำให้นักลงทุนมองว่าประเทศไทยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะเดียวกันยังพบว่า เงินทุนที่ไหลเข้าในขณะนี้ยังกดดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นลดลง 0.03-0.05% นอกจากนี้ยังส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นด้วย
“เงินที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศนั้น มีทั้งลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะยาว เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี เป็นต้น”นางสาวอุปมา กล่าว
โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายนนี้ สบน.จะทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) โดยการทำธุรกรรม หรือ Bond Switching เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลที่ถือครองอยู่มาแลกเปลี่ยนเป็นพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยในการบริหารหนี้เชิงรุกของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ พร้อมทั้งเป็นทางเลือกและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการบริหารพอร์ทการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีงบประมาณ 2560 สบน.จะร่วมกับธปท. เพื่อพัฒนารูปแบบพันธบัตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการออกพันธบัตรแบบอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ สบน.จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนพันธบัตรรุ่นเดิม แต่ทั้งนี้ การออกพันธบัตรรุ่นดังกล่าวยังเป็นการออกตามแผนที่วางไว้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย