- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 09 August 2014 12:57
- Hits: 2833
คลัง คาด โครงการเงินโอนให้ผู้มีรายได้น้อย หนุนจีดีพีโตเพิ่มอีกปีละ 0.2% - การบริโภคภาคเอกชนโตอีก 0.4%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษามาตรการเงินโอนให้กับผู้มีรายได้น้อย จะใช้งบประมาณ ราวปีละ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เพิ่มขึ้นอีก 0.2% ต่อปี และหนุนให้การบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 0.4% ต่อปี โดยจะเสนอมาตรการดังกล่าว ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาต่อไป ส่วนจะเห็นชอบหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของคสช. และจะต้องนำข้อเสนอจากการสัมมนาวิชาการมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
เขากล่าวว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าว ภายใต้ชื่อ โครงการเงินโอนแก้จน คนขยัน(Negative Income Tax) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดการเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระจายรายได้ในรูปของเงินโอน ให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยโครงการดังกล่าวกำหนดรายละเอียดว่า จะโอนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ในอัตรา 20% ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 8 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินโอนลดลงมาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้เงินโอนสูงสุดต่อราย จะอยู่ที่ 6 พันบาทต่อปี ส่วนผู้มีรายได้ ตั้งแต่ 8 หมื่นบาทต่อปี ขึ้นไป จะไม่ได้เงินโอนจากรัฐบาล ซึ่งคาดว่า จะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 27.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎา ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับเงินโอนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ มีงานทำ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับการเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามปกติ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นผู้มีรายได้น้อยที่รัฐต้องให้ความ ช่วยเหลือจริงๆ
นอกจากนี้ หากมีการดำเนินโครงการนี้ ก็จะต้องทำควบคู่กับการออกกฎหมายที่ ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ไม่ให้ดำเนินโครงการประชานิยม ที่เป็นภาระกับงบประมาณ จำนวนมาก เหมือนที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนิน นโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการจัดสรรงบประมาณด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับรายจ่าย ด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ รวมถึงการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายต่างๆ รวมทั้งสิ้น มากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่โครงการเชิงสวัสดิการและประชานิยม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีสัดส่วน มากกว่า 15% ของงบประมาณในแต่ละปี โดยโครงการประชานิยมในปีงบประมาณ 57 มีวงเงินกว่า 3.89 แสนล้านบาท
แต่จากการวิเคราะห์ พบว่า การเข้าถึงโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ใน ระหว่างปีงบประมาณ 53-55 นั้น ถึงมือคนจน หรือที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรือ 2.5 พันบาทต่อเดือน เพียง 10.1% เท่านั้น ดังนั้น การจัดสรรเงินโอนตาม โครงการนี้ จะสามารถจ่ายเงินให้กับคนจนได้ตรงเป้าหมาย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย