- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 09 August 2014 11:28
- Hits: 3110
ชงคสช.ผุด'นาโนไฟแนนซ์' หวังแก้ปม‘หนี้นอกระบบ’
แนวหน้า : เปิดให้ภาคเอกชนขอไลน์เซ่นให้บริการ-หวังแก้ปม‘หนี้นอกระบบ’ ชงคสช.ผุด'นาโนไฟแนนซ์'
คลังเร่งเรื่องนโยบายการเงินรากหญ้า ล่าสุดเล็งชงคสช.ไฟเขียว พึ่งภาคเอกชนทำธุรกิจปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายย่อย ที่ไม่มีหลักประกัน เข้าถึงเงินทุนในระบบแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ กำหนดเงื่อนไขกู้ได้รายละแสนบาท ดอกเบี้ย 36% ต่อปี ผู้ให้บริการมีเงินทุน 10 ล้านบาท ขณะที่ภาษีคนจน จะเร่งให้จบภายใน 1 ปี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้เสนอมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano-Finance) ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนในการขอสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากประชาชนมีรายได้น้อย และไม่มีหลักประกันในการเข้ามาขอสินเชื่อ ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารพาณิชย์ เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อทุนในการบริหารความเสี่ยง และต้นทุนในการดำเนินการ เช่น วิเคราะห์สินเชื่อ และการติดตามทวงหนี้ เป็นต้น
สำหรับรูปแบบการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้กำหนดรูปแบบการดำเนินงาน โดยจะให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ แต่ภาครัฐจะมีบทบาทในการกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริการ โดยเอกชนจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าเงินที่จัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์สำหรับการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและเพื่อให้มีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ เพราะเป็นเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจเอง
ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์ กำหนดไว้ให้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ แต่จำกัดยอดเงินกู้ไม่ให้สูงมากนัก เพื่อป้องกันการกู้เงินมากเกินควร ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ควรอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สร้างภาระกับผู้กู้มากเกินไป ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน
“การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3% แม้จะมองว่าเป็นอัตราที่สูง แต่ก็ต้องเห็นใจผู้ปล่อยกู้ด้วยเพราะรายย่อยถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28% และต้องมีการจำกัดการปล่อยสินเชื่อต่อราย รวมถึงพื้นที่ในการให้บริการด้วย และไม่ให้มีการฝากเงิน ดังนั้นการกำกับดูแลอาจจะไม่ได้เข้มงวดเหมือนแบงก์รัฐ ซึ่งหากได้รับความเห็นจาก คสช.แล้วก็สามารถเดินหน้าได้เลย ทำให้สอดคล้องกับการแก้หนี้นอกระบบของคสช.และพ.ร.บ.ทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย” นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติผู้ที่จะมาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา โดยจะมีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้ ซึ่งการพิจารณาสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นก็จะถูกชดเชยโดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้น โดยหลักการดังกล่าวทั้งหมดได้มีการเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว โดยปัจจุบันมีรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนได้เป็นอย่างดี
นายกฤษฎา ยังได้กล่าวถึงนโยบายการดำเนินการ'เงินโอน แก้จน คนขยัน'Negative Income Tax) ว่าเป็นมาตรการที่อยู่ในแผนโรดแมปที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการภายใน 1 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช. จะเห็นชอบหรือไม่ โดยขณะนี้จะนำข้อเสนอจากการสัมมนาวิชาการมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะมีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เบื้องต้นนั้นจ่ายภาษีให้คนจนมีแนวทางการดำเนินการอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.ผ่านกรมสรรพากรและกรมบัญชีกลาง ในลักษณะเดียวกับโครงการรถยนต์คันแรกที่ให้คนจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้กับสรรพากร หลังจากนั้นต้องตรวจสอบคุณสมบัติ แจ้งให้กรมบัญชีกลางจ่ายเช็คหรือโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับ 2.ให้กรมสรรพากรดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว ในลักษณะเหมือนกับการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้ที่ต้องการรับเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติ แล้วจ่ายเช็คหรือโอนเงินเข้าบัญชีให้
ชงตั้งนาโนไฟแนนซ์ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 36%
ไทยโพสต์ : พระรามหก * คลังชง คสช. คลอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อุ้มรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงิน เคาะเกณฑ์ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท โขกดอกเบี้ย 36%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.ได้เสนอหลักการเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักประกัน ในรูปของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (NanoFinance) ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ไม่ให้บริการด้านสินเชื่อเพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนในการบริหารความเสี่ยง และต้นทุนในการดำเนินการ เช่น การวิเคราะห์สินเชื่อ และการติดตามทวงหนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ กำหนดรูปแบบดำเนินงานโดยให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประ มาณภาครัฐ แต่ภาครัฐจะมีบท บาทในการกำกับดูแลให้การดำ เนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริการ โดยเอกชนที่ร่วมงานจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าเงินที่จัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท แต่ควรต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์สำหรับการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และเพื่อให้มีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ เพราะเป็นเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจเอง
นายกฤษฎา กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์ กำหนดไว้ให้ไม่เกินรายละ 1 แสน บาท เพื่อให้เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ แต่จำกัดยอดเงินกู้ไม่ให้สูงมากนัก เพื่อป้องกันการกู้เงินมากเกินควร ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ควรอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สร้างภาระกับผู้กู้มากเกินไป ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน
"การกำหนดอัตราดอก เบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3% แม้จะมองว่าเป็นอัตราที่สูง แต่ก็ต้องเห็นใจผู้ปล่อยกู้ด้วย เพราะรายย่อยถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงควรมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28%" นายกฤษฎากล่าว.