- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 08 August 2014 19:16
- Hits: 3205
วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 11:35 น. ข่าวสดออนไลน์
ชง'นาโนไฟแนนซ์'ปล่อยกู้รากหญ้า แก้เงินนอกระบบ
ข่าวสดเศรษฐกิจ
ผุดไอเดียใหม่ปล่อยกู้รากหญ้าหวังแก้เงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้เอกชนตั้ง"นาโนไฟแนนซ์"ปล่อยกู้รายย่อยที่ไร้หลักประกันรายละไม่เกิน 1 แสน ให้คิดดอกสูงถึง 36% ชี้หากคสช. ไฟเขียวเดินหน้าได้ทันที
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.เสนอหลักการเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักประกัน ในรูปของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano-Finance) ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ไม่ให้บริการด้านสินเชื่อเพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อต้นทุน
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า รูปแบบการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ แต่ภาครัฐจะเข้าไปกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับผู้รับบริการ โดยเอกชนที่ร่วมงานต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท
"การปล่อยสินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์ กำหนดไว้ให้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการเป็นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ และป้องกันการกู้เงินมากเกินควร ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 36% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่เป็นอัตราต่ำกว่าอัตราสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน"ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 3% แม้จะมองว่าเป็นอัตราที่สูง แต่ต้องเห็นใจผู้ปล่อยกู้ด้วยเพราะรายย่อยถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 28% และต้องจำกัดการปล่อยสินเชื่อต่อราย รวมถึงพื้นที่ในการให้บริการด้วย และไม่ให้รับฝากเงิน
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลอาจจะไม่ได้เข้มงวดเหมือนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจาก คสช.แล้วสามารถเดินหน้าได้เลยซึ่งสอดคล้องกับการแก้หนี้นอกระบบของคสช.และพ.ร.บ.ทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย
"ส่วนคุณสมบัติผู้กู้นาโนไฟแนนซ์จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีหรือไม่มีหลักประกันในการกู้ก็ได้ โดยการพิจารณาสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นก็จะถูกชดเชยโดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงขึ้น" นายกฤษฎากล่าวและว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือประชาชน