WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังชง คสช.รีดภาษีมรดกเสนอ 3 แนวทางหวังปิดช่องโหว่สร้างความเป็นธรรม

   บ้านเมือง : สรรพากรเตรียมชง 3 แนวทาง รีดภาษีมรดก ให้ คสช. พิจารณาระบุเน้นสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมมากกว่าโกยรายได้ พร้อมพิจารณาข้อเสนอแก้เกณฑ์ภาษีควบรวมกิจการ ขณะที่ ปลัดคลัง 'รังสรรค์'เผย เตรียมปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการสูงสุด 8% คาดใช้งบประมาณกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท ดีเดย์ 1 เม.ย.58

   นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้าของการพิจารณาร่างภาษีมรดกว่า กรมฯ ได้ศึกษาแนวแนวทางการจัดเก็บจากหลายภาคส่วน ทั้งจากนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจากประเทศต่างๆ โดยพบว่า มีความแตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ แบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1.จัดเก็บจากกองมรดก 2.จัดเก็บจากผู้ให้มรดก และ 3.จัดเก็บจากผู้รับมรดก ซึ่งกรมฯ ก็กำลังพิจารณาข้อดีและข้อเสียว่า จัดเก็บจากแนวทางใดจึงจะเหมาะสมและปิดช่องโหว่ได้มากที่สุด

   สำหรับ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวมุ่งเน้นสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีมากกว่าการจัดเก็บรายได้ เพราะผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้น ควรที่จะมีการเสียภาษี โดยบางรายมีทรัพย์สินจำนวนมาก และได้ยกให้กับลูกหลาน แต่ไม่มีภาระภาษี ซึ่งกรมฯ เห็นว่า หากผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากจะต้องมีการเสียภาษี ก็ไม่น่าจะกระทบกับรายได้มากนัก

   ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าแม้สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพย์สินจะเกิดขึ้นระหว่างประเทศกันมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีมรดก เพราะไม่ว่าผู้ที่ถือครองทรัพย์สินในประเทศใดๆ ก็จะต้องเสียภาษีในประเทศนั้นๆ ส่วนผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ประเภทเงินสด หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศ ท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องนำเงิน หรือผลกำไรกลับมาในประเทศ

    สำหรับ กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแผนจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขภาษีในการควบรวมกิจการนั้น การพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะต้องขึ้นอยู่กับว่ากิจการใดที่เราต้องการส่งเสริม โดยผู้เสนอจะต้องศึกษาว่าธุรกิจใดมีความเหมาะสม เพราะบางธุรกิจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่บางธุรกิจส่งเสริมแล้วให้ประโยชน์แก่สังคม เช่น การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้การปล่อยสินเชื่อในระบบดีขึ้น รองรับการแข่งขันในอาเซียน เป็นต้น

     ขณะที่แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 ต้องยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าหมายแน่นอน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนการจัดเก็บรายได้ในหรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 58 นั้น เชื่อว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะเริ่มเข้าที่เข้าทางหลังจากที่กรมฯ ได้ปรับลดภาษีลงและทำให้รายได้หายไปมากกว่าเป้าหมาย ประกอบกับ ทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น ก็เชื่อว่าจะทำให้รายได้เราขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 58 อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท

    ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงบประมาณ ต้องหารือร่วมกัน เพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดเสนอ คสช.พิจารณา โดยผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าคงต้องปรับเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการสูงสุด 8% รวมถึงข้าราชการบำนาญ

   ทั้งนี้ ยอมรับว่าเปอร์เซ็นต์การปรับเพิ่มขึ้นจะไม่เท่ากัน โดยจะเน้นข้าราชการระดับล่าง รวมถึงการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพจาก 1,500 บาท เป็น 2,000 บาทต่อเดือน การปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้ข้าราชการหลายส่วน โดยแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่าง เช่น ทหารจะใช้เป็นเบี้ยเลี้ยง ส่วนข้าราชการครู กระทรวงมหาดไทย หรือส่วนงานอื่นจะใช้เป็นเบี้ยกันดาร และเบี้ยเลี้ยงการออกพื้นที่ จึงต้องปรับให้เหมาะสม โดยต้องประเมินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าใด คาดว่าจะใช้เงิน 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อดูตามขั้นตอนการพิจารณาแล้วคงเสร็จไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ น่าจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.58 ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 58

    ด้าน นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า หากมีการปรับเพิ่มทุกกลุ่มในอัตรา 8% ยอมรับว่าจะเป็นภาระงบประมาณถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และผูกพันเป็นภาระในอนาคตเมื่อข้าราชการเกษียญอายุ ภาครัฐจะต้องจ่ายบำนาญในอัตราที่สูงตามเงินเดือนที่ปรับขึ้น จึงต้องนำเสนอ คสช.เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ หากมีการปรับเพิ่มเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จะต้องมีการจำกัดความร่วมกันว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้างที่ควรจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว

  ทั้งนี้ หาก คสช.ตัดสินใจปรับขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกประเภทในปีงบประมาณ 2558 ในอัตรา 8% จะมีผู้ได้สิทธิ์ แบ่งเป็นข้าราชการ จำนวน 1.7 ล้านคน ลูกจ้างประจำ จำนวน 160,000 คน พนักงานข้าราชการ จำนวน 210,000 คน และผู้รับเบี้ยวัดบำนาญ จำนวน 610,000 คน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!