WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศค.ดันโปรเจกท์กระจายรายได้สู่รากหญ้า จ่ายเงินภาษีให้คนจนช่วยยังชีพ

     แนวหน้า : สศค.ดันโปรเจกท์ภาษีคนจน เน้นกระจายรายได้สู่รากหญ้าอย่างยั่งยืน ตั้งเงื่อนไขต้องทำงานและอยู่ในระบบภาษี อายุ 15-60 ปี รายได้ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 79,999 บาทต่อปี มีสิทธิ์รับเงินคืน 12-20% ของรายได้ ระบุเข้าข่าย 18 ล้านคน รัฐต้องใช้เงิน 5.56 หมื่นล้านบาทต่อปี เตรียมชงรัฐบาลชุดใหม่เห็นชอบ

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ศึกษาการจ่ายเงินภาษีให้คนจน (Negative Income Tax:NIT) เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยมาจากคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล ดังนั้นคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ก็ควรได้รับเงินโอนจากรัฐ หรือ การจ่ายเงินภาษีให้กับคนจน

   สำหรับ หลักการจ่ายคืนภาษีจะต้องเป็นคนที่มีรายได้น้อย ต้องเป็นคนทำงานไม่ได้นอนอยู่บ้านเฉยๆ และต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบภาษี โดยจากเดิมกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ต้องยื่นแบบภาษีกับกรมสรรพากร จะมีการปรับให้มีรายได้ตั้งแต่ 1 บาทแรก ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีกับกรมสรรพากร เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิได้รับโอนเงินจากรัฐ

    เบื้องต้นกำหนดให้ผู้ที่ได้รับโอนเงินภาษีจากรัฐจะต้องมีอายุ 15-60 ปี โดยรายได้ตั้งแต่ 1 บาทแรก ไปจนถึง 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้เงินโอนภาษีจากรัฐ 20% ของรายได้ที่ได้รับ แต่หากรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีขึ้นไป ก็จะได้รับโอนเงินภาษีลดลง 12% ของส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาทไปจนถึงรายได้ 79,999 บาท ส่วนที่มีรายได้ 80,000 บาทขึ้นไป จะไม่ได้รับเงินโอนภาษีจากรัฐ เพราะถือว่ามีรายได้ที่มากพอแล้ว เทียบเคียงกับการได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน

    จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 2,000 บาท รายได้ 2 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 4,000 บาท รายได้ 3 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 6,000 บาท รายได้ 4 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 4,800 บาท รายได้ 5 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 3,600 บาท รายได้ 6 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 2,400 บาท รายได้ 7 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 1,200 บาท

    สศค. ประเมินว่าภาระที่ต้องโอนเงินภาษีคืนคนมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะต้องใช้เงินประมาณ 5.56 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผู้ที่ได้รับเงินโอนทั้งหมดประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น 27.5% ของประชากรทั้งหมด

    นายกฤษฎา กล่าวว่ามาตรการการคืนภาษีคนจนอาจจะมีการปรับรายละเอียดอีกเล็กน้อย และจะเสนอให้รัฐบาลที่จะมีขึ้นให้เร็วที่สุดว่าเห็นชอบหรือไม่ เพราะสศค. เห็นว่าเป็นมาตรการที่จะช่วยลดหรือเลิกโครงการประชานิยม เป็นมาตรการทางการคลังที่ช่วยลดความยากจน แก้ปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศ เป็นมาตรการแรงจูงใจให้คนจนมีความขยันในการทำงานมากขึ้น และเป็นการดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลอื่นในการออกมาตรการช่วยคนมีรายได้น้อยต่อไป

  รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายทางด้านสวัสดิการของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลต้องปรับภาษีเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการ แม้รายจ่ายด้านสวัสดิการจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดที่รัฐบาลประสบอยู่เสมอ คือ การจัดสวัสดิการให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะ

    ผู้กำหนดนโยบายของไทยไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ผู้ใดเป็นคนจน ส่งผลการจัดสวัสดิการขาดการตรวจสอบรายได้ของผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายสูงเกินความจำเป็น

    “ผลการวิเคราะห์การเข้าถึงบริการที่รัฐผ่านโครงการสวัสดิการต่างๆ ระหว่างปี 53-55 พบว่าเป็นผู้ไม่จนถึง 89.9% และเป็นคนจนเพียง 10.1% เท่านั้น ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนมากถูกจัดสรรให้กับผู้ที่มีความจำเป็นน้อย ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายงบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”แหล่งข่าว กล่าว

    อย่างไรก็ตาม การโอนเงินจากรัฐบาลจะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานทำงานมากขึ้น เพราะหากตัดสินใจไม่ทำงานเลย ก็จะไม่ได้รับโอนเงินจากรัฐบาล แต่หากตัดสินใจทำงานแล้ว เงินทุกๆ บาทที่หามาได้ก็จะเพิ่มขึ้น และจะได้รับเงินโอนจากรัฐบาลเข้ามาสมทบอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะมีแรงจูงใจทำงานมากขึ้น ซึ่งสร้างความขยันให้กับผู้ที่ต้องการทำงาน และหลังจากนั้นอัตราที่รัฐบาลโอนให้จะค่อยๆ ลดลง และจะหมดลงเมื่อมีรายได้พึงประเมิน 80,000 บาทต่อปี

   การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะนอกจากยังสร้างให้บุคคลตัดสินใจทำงานแล้ว ยังจะช่วยให้รายได้รัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการโอนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยจนเกือบหมด ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภค โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ได้สูงขึ้น และไม่เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งต่างกับรัฐบาลที่ผ่านมาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยวิธีอื่นๆ เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการอุดหนุนสินค้าเกษตร เป็นต้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!