- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 08 February 2017 22:44
- Hits: 8596
คลัง เตรียมชงนายกฯ ใช้ม.44 แก้ไขกฎหมายรับสินบน เปิดทางให้รับสารภาพ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง คาดมีผลบังคับใช้ส.ค.60
คลัง เตรียมชงนายกฯ ใช้ ม.44 แก้ไขกฎหมายรับสินบน หวังจูงใจผู้รับสินบนแบบถูกบังคับมายอมรับโทษ พร้อมเสนอโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่เปิดใช้ระบบอีบิทดิ้ง เพิ่มผู้แข่งขัน ช่วยรัฐฯ ประหยัดมากขึ้น ด้านพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างคาดมีผลบังคับใช้ส.ค.60
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวคิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ ว่า จากรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงได้มอบหมายกรมบัญชีกลาง และสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ร่วมกันหาวิธีการจัดการ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2560
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังเตรียมเสนอการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ในส่วนของการรับสินบน ให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้พิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก้บุคคลที่ถูกบังคับให้รับสินบนนั้นโดยไม่ตั้งใจ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มดังกล่าว มาเผยแพร่ข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐรับทราบ เพราะที่ผ่านมา พบว่า คนที่ทำผิดทั้งผู้ให้และผู้รับมีบทลงโทษที่เท่ากัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้น หากต้องการให้ออกมาบังคับใช้ได้เร็ว ก็สามารถใช้มาตรา 44 ดำเนินการได้ในระหว่างที่รอพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างมีผลบังคับใช้ แต่ทั้งนี้มาตรา 44 เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงต้องอยู่ที่การพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่
“ในปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ออกพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 และจะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ซึ่งจากการประชุม พบว่า ปัญหาการทุจริต เกิดจาก ปัญหาแรก คือ การกำหนดราคาของหน่วยงานนั้นๆ ส่วนเรื่องที่ 2 คือ ปัญหาในฮั้วราคา ปัญหาที่ 3 คือ การจัดซื้อผ่านคนกลาง เป็นต้น”นายอภิศักดิ์ กล่าว
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้นำระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบิทดิ้งมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 65,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการใหญ่ ยังต้องอยู่ในรูปแบบของสัญญาคุณธรรม หรือ integrity pact มาใช้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการ ซึ่งช่วยให้เกิดความโปร่งใส และประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลได้
นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะเสนอให้คณะกรรมการ Integrity pact เข้าไปดูกระบวนการจัดซื้อตั้งแต่ต้นทาง คือ การกำหนดราคากลาง การกำหนดวิธีการเลือกผู้ประมูล ผู้รับเหมา เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการให้จัดตั้งอนุสัญญาคุณธรรม เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญมาดูในเรื่องของการกำหนดราคากลางได้ถูกต้องเหมาะสมด้วย
ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้าง ของกรมบัญชีกลาง หากมีการจัดซื้อจัดจ้าง ในส่วนของคุรุภัณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยสำนักงบประมาณนั้น หากพบราคาคุรุภัณฑ์ต่ำกว่าราคากลาง จะต้องมีการปรับราคาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
นอกจากนี้ ยังเตรียมให้เพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการสัญญาคุณธรรม เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับงานของรัฐได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้ที่จะเข้ามาประมูลงานด้วย ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ จะให้เปิดการประมูลเป็น อินเตอร์บิทดิ้งเป็นการทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาประมูลได้ เช่น โครงการตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปให้ประมูลในระบบดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งทุกกระบวนการเมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้ ป.ย.ป.รับทราบเร็วๆนี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี กรือ ครม.พิจารณาต่อไป
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการทุจริตทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แม้กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างที่จะออกมา รวมถึงการทำอีบิทดิ้ง การทำสัญญาคุณธรรม จะสามารถลดการทุจริตลงได้บ้าง แต่ยอมรับว่า กลโกงมีการพัฒนามากขึ้น ดังนั้นจึงให้หน่วยงานต่างๆเข้าไปดูแล และปรับกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับการโกงที่พัฒนามากขึ้น
“ตนมองว่า อะไรที่จำเป็น และต้องมีผลโดยไว และพบว่า มีข้อมูลพร้อม ครบถ้วน มีผลกระทบในวงกว้าง ก็เชื่อว่านายกฯคงตกลงปรงใจที่จะใช้มาตรา 44 ออกมาได้ ขณะเดียวกันนายกฯก็มีความเป็นห่วงความรู้สึกของสังคมว่าเราจะมีการทุจริตไปในระยะยาว ซึ่งนายกฯก็ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวกับการทุจริต”พลโทสรรเสริญ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย