WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังเด้งรับขึ้นเงินขรก.สคร. เดินหน้าออกกฎหมายลูก 8 ฉบับรับลงทุน 2.4 ล้าน ล.

    บ้านเมือง : คลังเด้งรับ คสช. สั่งขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ พิจารณาแหล่งเงิน โวเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ด้าน สคร.เร่งเดินหน้าเคาะรายละเอียดกฎหมายลูกทั้ง 8 ฉบับ ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชน หวังรองรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง วงเงิน 2.4 ล้าน ล. คาดภายในสิ้นปีนี้คลอดกฎหมายลูกครบ

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ฝ่ายกิจการพิเศษประชุมหารือแนวทางการพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนของข้าราชการ ทั้งฐานเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว การยกฐานะ เพิ่มเพดานอัตราเงินเดือน การปรับปรุงค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลา เพื่อสิทธิประโยชน์และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ว่า ตนได้รับข้อความจากทาง คสช.แล้ว ในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย

   โดยจะไปพิจารณาว่าการปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าว จะส่งผลกระทบในด้านใดบ้างหรือไม่อย่างไร ส่วนในเรื่องของเงินนั้น มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหา และปีหน้าก็น่าจะเก็บภาษีได้ตามเป้า อีกทั้งเรายังมีเงินจากงบประมาณกลางปีที่ยังสามารถใช้ได้ หรือแม้กระทั่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ก็ยังสามารถแปรญัตติใส่รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการได้ แต่หลักๆ คือ จะต้องพิจารณาว่าขณะนี้มีวงเงินที่เพียงพอจะดำเนินการได้เลยโดยไม่เป็นภาระรัฐบาลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ครั้งก่อนหน้าที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านบาท ก็ไม่ได้เยอะ ต้องไปคุยรายละเอียดว่า เราจะปรับขึ้นเงินเดือนแบบไหน จะปรับขึ้นเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือจะเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ

  "ปัจจุบันสำหรับข้าราชการที่ไม่จบปริญญาตรี จะได้เงินเดือน 9 พันบาท ส่วนที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณาว่าจะปรับเฉพาะคนที่การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี หรือจะปรับขึ้นเงินเดือนรวมไปถึงข้าราชการที่จบปริญญาตรีด้วย แต่โดยส่วนตัวมองว่า เงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีที่ 1.5 หมื่นบาทนั้น เป็นระดับที่เพียงพอในการดำรงชีวิตได้ และเอกชนบางแห่งยังให้เงินเดือนคนจบปริญญาตรีไม่ถึง 1.5 หมื่นบาทเลยด้วยซ้ำ"

   อย่างไรก็ตาม จะไปหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนที่จะไปหารือกับทาง คสช. ในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกำหนดระยะเวลาที่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ตนเห็นว่ากระบวนการในการทำงานไม่น่าจะล่าช้า หากการปรับแก้ไขกฎหมายเงินเดือนข้าราชการ เรียบร้อย รวมถึงเงินงบประมาณที่จะใช้สนับสนุนพร้อม 1 ต.ค.นี้ ก็น่าจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการได้ทันที

   ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงเงินเดือนพนักงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ว่า ปกติเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจจะสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องดูรายละเอียดของการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการว่าเป็นอย่างไร ขึ้นแล้วจะทำให้เกิดช่องโหว่ระหว่างเงินเดือนข้าราชการกับรัฐวิสาหกิจอย่างไรหรือไม่ รวมถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลักๆ คือต้องพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้มีความสอดคล้องกัน

   ในวันเดียวกันนี้ นายรังสรรค์ กล่าวภายหลังการสัมมนาเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 56 ของบุคคลในบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 8 ฉบับ ที่จะออกเพื่อให้ พ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐเอกชน (พีพีพี) สามารถเริ่มโครงการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากฎหมายลูกทั้งหมดจะสามารถออกได้ทันการเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทแน่นอน

  ด้านนายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้ยังขาดกฎหมายลูกอยู่ ซึ่ง สคร.ก็กำลังจะพิจารณาเหลืออีก 8 ฉบับ จะทยอยทำออกมา โดยจะเร่งทำให้เสร็จ คาด ภายในปีนี้น่าจะมีความชัดเจนทั้งหมด และเรื่องการดำเดินการตามกฎหมายปี 56 จะมีโครงการลงทุนให้เอกชนเข้าร่วม เข้ามาสอดรับกัน โดยคาดการณ์ว่าโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วยประมาณ 20% ของโครงการลงทุนใหม่ๆ วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้มีที่ปรึกษา คสช.ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมก็ต้องพิจารณา พีพีพีก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และจะนำร่องจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเริ่มที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทก่อน

คลังเร่งออกกฎหมายลูกสนองนโยบายคสช. ดึงเอกชนลงทุน 2.4 ล้านล้าน

   แนวหน้า : คลังออกกฎหมายลูกเปิดช่องให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐขนาดใหญ่ เร่งสรุปภายในปี’58 เพื่อให้ทันลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านของคสช. ด้านสคร.เตรียมดึงเอกชนร่วมแจมโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ 20% ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ ลดภาระหนี้สาธารณะ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ได้เริ่มดำเนินการร่างกฎหมายใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ (พีพีพี) ที่ค้างอยู่ 8 ฉบับ เพื่อสามารถเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนในโครงการของรัฐได้ โดยเฉพาะในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่สัดส่วนของการลงทุนในรูปแบบพีพีพีจะเป็นเท่าไรนั้นคงต้องกลับมาดูรายละเอียดอีกครั้ง

   นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า สคร.กำลังออกกฎหมายลูกในพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ค้างอยู่หลายฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักเกณฑ์และมูลค่าโครงการ โดยจะเร่งหาข้อสรุปให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ และตั้งเป้าหมายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนอยู่ที่ 20% ของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด รวมถึงการลงทุนในกองทุนโครงสร้าง พื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) อีกด้วย

   อย่างไรก็ตาม สคร.เชื่อว่ากฎหมายที่ค้างอยู่หลายฉบับนั้น คาดว่าจะเสร็จให้ทันในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งถือเป็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมทำงานและเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐ โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยเพิ่มในส่วนของทุน ซึ่งไม่ให้เป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้น

   สำหรับ โครงการลงทุนในปี 2558 จะจัดตั้งกองทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก่อนเป็นอันดับแรก ในขนาด 16,000 ล้านบาท และในระยะต่อไปที่เป็นไปตามแผนจะจัดตั้งกองทุนฯของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเงินไปใช้ขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รวมทั้ง แผนการลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่กำลังหารือในรายละเอียด

  “สคร.มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ส่งเสริมและสนับสนุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีความโปร่งใสเชื่อถือได้และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ เพิ่มความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการ เพิ่มอำนาจรัฐในการพัฒนาประเทศในส่วนอื่นๆ ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ” นายกุลิศ กล่าว

  นายเสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) กล่าวว่า เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงการของรัฐ และโครงการขนาดใหญ่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต้องออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ เช่น แนวทางการประเมินโครงการมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ทั้งการนำทรัพย์สิน สินค้าและบริการในโครงการ

  เนื่องจากที่ผ่านมามักจะพยายามทำให้มูลค่าโครงการไม่ให้เกินพันล้านเพื่อไม่ให้ต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน PPP ฉบับปัจจุบันได้กำหนดมาตรา 72 ด้วยการกำหนดให้กลับไปทบทวนสัญญาการลงทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีโครงการที่อาจจะเข้าข่ายหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนเดิม เพราะมีแรงจูงใจให้กลับมาลงทุนภายใต้กฎหมายใหม่ที่เอื้ออำนวยการลงทุน

   ในส่วนของโครงการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ตรวจเอ็มอาร์ไอ ควรเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อติดตั้งเครื่องดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างปีต่อปี เพราะไม่จูงใจ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีเครื่องมือดังกล่าวมากขึ้น แต่ในการตรวจสอบนั้นจะอยู่ที่องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อเป็นองค์กรในการตรวจสอบดูแล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!