- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 08 September 2016 12:32
- Hits: 3968
รมว.คลัง สั่งตั้งคณะทำงาน e-Payment ตลาดทุน หวังปรับการชำระค่าหุ้นเป็น T+2 คาดแล้วเสร็จกลางปีหน้า
รมว.คลัง สั่งตั้งคณะทำงานe-Payment ตลาดทุน หวังปรับการชำระค่าหุ้นเป็น T+2 คาดแล้วเสร็จกลางปีหน้า ยันภายในสิ้นปี 60 การรับ - จ่ายเงินภาครัฐ จะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ส่วนตั๋วร่วมบีทีเอส -รถเมล์ - เรือเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ พร้อมยอมรับรับห่วงการติดตั้งเครื่องรับบัตร EDC ช้ากว่าแผน เร่งสรรพากรออกสิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจผู้ประกอบการมาประมูลติดตั้งเครื่อง คาดได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการ e-Payment ครั้งที่ 6/2559 ว่า หลังจากนี้อยากเห็นการพัฒนาระบบการชำระเงินดังกล่าวไปสู่ภาคตลาดทุน เพื่อให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการลงทุนมากขึ้น โดยได้ตั้งคณะทำงาน ที่มีนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อศึกษาการสร้างความสะดวกในการชำระเงินของนักลงทุนในตลาดทุน ซึ่งจะทำให้การซื้อขายหุ้นในแต่ละวันมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจะให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ จากปัจจุบัน 3 วันทำการ หรือ T+3 เหลือเพียง 2 วันหรือ T+2 ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงจากระบบชำระราคาในตลาดหลักทรัพย์ลดลง และทำให้ตลาดทุนไทยน่าสนใจมากขึ้น
สำหรับ คณะทำงานนั้น จะประกอบไปด้วยตลท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ร่วมกันดำเนินการ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวดำเนินการทั้งหมด และให้ ก.ล.ต.เป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการนำระบบ e-Payment ไปใช้กับระบบประกันภัยหรือประกันพืชผลทางการเกษตร ที่สามารถจ่ายค่าประกัน หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือพร้อมเพย์ได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดการทุจริตจากประกันได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ระบบการจ่ายเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ หรือ EDC ที่มีปัญหา โดยไม่มีเอกชนสนใจติดตั้งเครื่องดังกล่าว จึงได้ให้ปลัดกระทรวงการคลังจัดทำร่าง TOR เพื่อให้ธนาคารเข้ามาประมูล โดยจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งเครื่องดังกล่าว ซึ่งกรมสรรพากรจะคิดแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะต้องให้ติดตั้งได้ภายในธันวาคมปีนี้ให้ได้
นอกจากนี้ ยอมรับปัญหาการแฮ็กข้อมูลธนาคารของมิจฉาชีพนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการเงินเป็นสื่งที่จำเป็น เพราะถือเป็นการพัฒนา ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรการป้องกันส่วนนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นตัวหลักในการดูแล
ส่วนความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หลังจากนี้จะออกมาในรูปแบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มจากการเดินทางของประชาชน หรือ ระบบตั๋วร่วม โดยจะตั้งคณะทำงานเข้ามาดูแลระบบตั๋วร่วม เช่น รถเมล์ รถไฟ เรือ และรถไฟฟ้า ให้เชื่อมต่อกับระบบ e-Peyment ให้ได้ ส่วนการชำระเงินของภาครัฐนั้น ภายในปี 2560 จะต้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
ด้านนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตลท.มองว่าสามารถใช้ระบบ e-Payment ในภาคของตลาดทุนได้ แต่จะต้องใช้เวลาในการศึกษาในรายละเอียดก่อน เพราะมีขั้นตอนในการดำเนินงาน ซึ่งเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้อย่างแน่นอน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย