- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 09 May 2014 12:10
- Hits: 4198
รัฐไล่บี้ภาษีร้านค้ารายใหญ่ สรรพากรเร่งรีดรายได้ให้ตามเป้า 1.89 ล้าน ล.
บ้านเมือง : สรรพากรกัดฟันรีดรายได้ตามเป้าหมาย 1.89 ล้าน ล. ระบุเดินหน้าไล่บี้ภาษีร้านค้าส่งรายใหญ่ย่านสำเพ็ง เยาวราช ประตูน้ำ วัดตึก และวรจักร ขณะที่ตั้งเป้ายอดขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5 ล. หลังพบผู้มีเงินได้ยื่นแบบขอคืนภาษี 3.5 ล้านคน จากจำนวนผู้ยื่นแบบภาษีทั้งหมด 10.25 ล.
นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 นี้ กรมสรรพากรจะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-มี.ค.57) จัดเก็บรายได้รวม 705,613 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 23,451 ล้านบาท หรือ 3.2% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้ประชาชนลดการอุปโภคและบริโภค และที่สำคัญการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อการลงทุนก็ลดลงส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ
"ล่าสุดได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรในเขตพื้นที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจคือ สำเพ็ง เยาวราช ประตูน้ำ วัดตึก และย่านวรจักร ตรวจสอบบรรดาร้านค้าส่งในแหล่งธุรกิจดังกล่าวอย่างเข้มงวด เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าบรรดาร้านค้าส่งเหล่านี้ เสียภาษีไม่ครบถ้วน" นายสุทธิชัย กล่าว
นายสุทธิชัย กล่าวว่า กรมสรรพากรจะยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 ที่กระทรวงการคลังมอบหมาย 1.89 ล้านล้านบาทไว้เหมือนเดิม แม้ว่ากระทรวงการคลังจะปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ลงมาอยู่ที่ 1.78 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม เพราะมีความมั่นใจว่าหากการดำเนินนโยบายการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายแล้ว ผู้ที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่เคยเสียภาษีเลยก็จะเดินเข้ามาสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น
สำหรับ การคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2556 ของประชาชนที่มีรายได้ระหว่างเดือน ม.ค. จนถึงเดือน ธ.ค.ของปี 56 ที่ต้องยื่นแบบภาษีระหว่างเดือน ม.ค.จนถึงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น กรมสรรพากรคาดว่าจะมียอดเงินในการคืนภาษีให้แก่ประชาชนสูงถึง 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมที่มีอยู่ที่ 5 ขั้น ได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 7 ขั้นประกอบด้วย 5% 10% 15% 20% 25% 30% และ 35% ทำให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของผู้ที่มีเงินได้ ได้รับผลประโยชน์จากอัตราภาษีใหม่ที่ลดลงเป็นจำนวนมาก
"ในรอบปี 56 ที่สิ้นสุดการยื่นแบบเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้มีเงินได้มายื่นแบบภาษีทั้งหมด 10.25 ล้านคน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต 7.7 ล้านคน ยื่นแบบด้วยกระดาษผ่านสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ 2 ล้านคน และส่วนที่เหลือ 170,000 คนได้ยื่นแบบผ่านธนาคาร โดยในรอบปีภาษีนี้ ผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบภาษีกับกรมสรรพากรเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน ซึ่งถือว่า เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น่าพอใจ"
สำหรับเม็ดเงินการขอคืนภาษี 50,000 ล้านบาท มีผู้ที่ยื่นของคืนทั้งหมด 3.5 ล้านคน จากปีภาษีที่แล้วอยู่ที่ 2.8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ กรมสรรพากรได้คืนภาษีไปแล้วประมาณ 71% หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 29,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่ากรมสรรพากรจะคืนภาษีให้ผู้ที่มีเงินได้ที่ขอคืนภาษีได้เกือบทั้งหมดได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ยกเว้นกรณีที่มีผู้ที่ยื่นแบบไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเรียกข้อมูลและขอเอกสารเพิ่มเติม ส่งผลให้การพิจารณาการคืนภาษีล่าช้าไปด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ต่ออายุการคงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อยู่ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2557 เป็นสิ้นสุด 30 กันยายน 2558 หลังจากนั้นก็จะนำเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การที่เสนอต่ออายุแค่ 1 ปี จากปกติที่เคยขอต่อ 2 ปี เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการจึงไม่อยากให้มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่
ขณะนี้กรมสรรพากรได้คืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 70% คิดเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 30% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะเร่งคืนทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินที่คืนไปส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ทันที ทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาที่สิ้นสุด 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้มายื่นแบบจำนวน 10.2 ล้านราย มีผู้ยื่นแบบเพิ่มขึ้น 4 แสนราย หรือ 2.8% ในจำนวนทั้งหมดมีผู้ต้องเสียภาษี 6.5 ล้านราย และการเก็บภาษีบุคคลลดลงประมาณ 25% จากปีก่อน เนื่องจากการปรับขั้นและลดอัตราภาษีเริ่มใช้ในปีภาษี 2556 ที่นำมายื่นภาษีเมื่อเดือนมกราคม-มีนาคม 2557