- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 02 May 2016 17:00
- Hits: 5756
รมช.คลัง แจงไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เหตุธุรกิจเดินได้แล้ว หวั่นใช้มากจะดื้อยา
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ปาฐกถาพิเศษ "แนวทางการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล" ในงานสัมนา "ปิดฉากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯไปทางไหน" ว่า มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.58 - 28 เม.ย.59 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกิดการเร่งรัดในการตัดสินใจของประชาชนในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยใน 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.58) เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31% และขยายตัวเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเดือนต่อเดือน ขณะที่ยอดการโอนเพิ่มขึ้นถึง 13% อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสุดมาตรการในช่วงปลายเดือนนี้รัฐบาลคงจะไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าวแล้ว
"จะไม่ต่ออายุให้กับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่าทิศทางของธุรกิจภาคอสังหาฯ ในขณะนี้เดินหน้าต่อไปได้พอสมควรแล้ว ซึ่งการให้ยาแรง 6 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นเวลาที่สมควรแล้ว ถ้าให้ยาแรงๆ กระตุ้นเป็นเวลาต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการดื้อยาได้" รมช.คลังกล่าว
พร้อมระบุว่า จะเสนอให้ผู้ประกอบการจัดทำระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสอง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เป็นระบบ โดยเมื่อสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้นจะต้องมีข้อมูลได้ว่าบ้านหลังนั้นราคาเท่าไร รูปแบบบ้านเป็นอย่างไร สร้างปีไหน ซึ่งจะต้องมีผู้ที่เข้ามาดูแลในส่วนนี้ อันจะถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อบ้านด้วย
นอกจากนี้ ได้เสนอแนวความคิดให้กับผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงบ้านสำหรับคนพิการ หรือคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดจากโครงการบ้านประชารัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งแนวคิดนี้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถพัฒนาในที่ดินของตัวเองหรือพัฒนาบนที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ได้ โดยมองว่าหลังจากที่รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการเอกชนควรที่หันมาดูแลสังคมด้วย
สำหรับ รูปแบบนั้น ต้องการให้มีการสร้างในลักษณะเป็น Complex ให้ผู้สูงอายุเช่าในราคาถูก ซึ่งรัฐมีที่ดินที่ราชพัสดุมารองรับ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนพัฒนา ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุนั้นขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ด้านประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเมี่ยม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 จะเติบโตอยู่ที่ 5% โดยมีมีมูลค่าทั้งหมด 3.55 แสนล้านบาท บ้านเดี่ยวโตขึ้น 4-5% ส่วนทาวน์เฮ้าส์โตขึ้น 12% ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทอสังหาริมทรัพย์คงจะมีการออกโครงการใหม่ๆ ทั้งนี้จากข้อมูลใน 10 บริษัทใหญ่มีโครงการรวม 67 โครงการ มูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท และเตรียมจะเปิดตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับต่างจังหวัดนั้น เชื่อว่าหลายบริษัทยังไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ และคงเร่งทำการตลาดกับอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่ในสต็อก
ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือการเดินหน้าระบบขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่จะเริ่มให้บริการได้ในปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดธุรกิจด้านนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในหัวข้อ "หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นของรัฐ จะไปทางไหน" มองว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตได้ แต่คงไม่คึกคักเหมือนช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการ ซึ่งในกรุงเทพฯและปริมณฑลบริษัทอสังหาริมทรัพย์คงจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ แต่หลังจากที่รัฐบาลไม่มีมาตราการกระตุ้น บริษัทต่างๆ จะเน้นขายบ้านในสต็อกเป็นหลัก ส่วนในตลาดต่างจังหวัดยังมองว่าตลาดคอนโดมิเนีนยมจะมีการปรับเข้าสู่ดุลภาพมากขึ้น ซึ่งยังมีบางบริษัท เช่น CPN ยังเดินหน้าในการเปิดตัวคอนโดฯ ในต่างจังหวัด
สำหัรบ การประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของตนนั้น เห็นว่าตามแนวชายแดนจังหวัดตาก เริ่มมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้าไปลงทุนในพื้นที่ และเชื่อว่าจะเห็นภาพการเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเต็มที่ในช่วงปี 2560-2561
นายสัมมา ระบุว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังจากนี้ต้องดูจากหลายปัจจัยอื่นประกอบด้วย ทั้งนโยบายจากภาครัฐว่าจะมีการออกมาตราการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ ตลอดจนเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการปรับปรุงระเบียบด้านผังเมืองต่างๆ ด้วย
อินโฟเควสท์