- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 23 April 2016 22:05
- Hits: 2869
คนร.ให้อนุกก.ฯปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.พัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้รับทราบการรายงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ในประเด็นที่เป็นข้อกังวลของสาธารณะเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... ที่มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เช่น ระบบการกำกับดูแลที่ดีที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ความเชื่อมโยงในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
"คนร.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเตรียมการฯ ไปดำเนินการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ชัดเจน ในเรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ การสร้างความสมดุลของรัฐ ผู้ถือหุ้น และพนักงานรัฐวิสาหกิจ" นายเอกนิติ กล่าว
พร้อมกันนี้ คนร.ยังเห็นควรให้มีการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายในครั้งนี้ ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด แต่จะเป็นร่างกฎหมายที่สร้างความสมดุลในการกำกับดูแลการบริหารัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ส่วนการพิจารณาการดำเนินการตามแผนการแก้ไขของรัฐวิสาหกิจนั้น นายเอกนิติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณาการดำเนินงานในอนาคตของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอที่ให้ทั้ง 2 รัฐวิสหกิจใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันซึ่งให้ทีโอทีเป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายภายในประเทศและกสท.เป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายระหว่างประเทศ
ส่วนกลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ (Internet Data Center)และระบบคลาวด์ (Cloud) นั้นร่วมลงทุนธุรกิจและหาพันธมิตรไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับให้ทีโอทีและกสท.ดำเนินการตามแผนและรายงานความคืบหน้าให้กับคนร.ด้วย
สำหรับ การแก้ไขปัญหา ขสมก. นั้นได้มีการปรับแผนจัดหารถโดยสาร 3,183 คัน โดยแบ่งเป็นการจัดการรถเอ็นจีวี 489 คัน รถไฟฟ้า 500 คัน ปรับปรุงสภาพรถเดิม 672 คัน และใช้รถเดิม 1,522 คัน โดยรถไฟฟ้านั้นขสมก.จะนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมตั้งเป้าการลดผลขาดทุนระหว่างเมษายนและกันยายน 2559 ให้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท และปรับปรุงอู่จอดรถและการจัดทำเดินรถร่วมกับกรมการขนส่งทางบก
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้กำหนดตัวชี้วัดการส่งมอบพื้นที่ย่านมักกะสันให้ชัดเจน และรถไฟสายสีแดงให้ทำแผนว่าจะลงทุนเองหรือให้เอกชนมาร่วมทุน ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ยืนยันว่าต้องให้เอกชนมาร่วมลงทุนทั้งโครงการและการบริการที่ดิน รฟท. กำหนดให้ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงคลังทันที พร้อมให้รฟท.และกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ภายใน 30 วัน
นอกจากนี้ นายเอกนิติ ระบุว่า การแก้ไขปัญหาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. เป็นไปตามเป้า และการจัดการลดหนี้ NPL ได้ถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าให้เหลือไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 3.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ กล่าวถึงการประเมินความคืบหน้าการทำงานของแต่ละหน่วยงานว่า หลังจากมีการกำหนดให้มีการประเมินในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บางหน่วยงานก็สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ซึ่งหลังจากนี้ทางคนร.ได้ให้ทุกรัฐวิสาหกิจจัดทำแผนงานปี 2559 ซึ่งจะใช้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของผู้บริหารของแต่ละรัฐวิสหกิจด้วย
อินโฟเควสท์