- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 11 April 2016 23:04
- Hits: 6704
คลังเมิน IMF แนะปรับขึ้นภาษี VAT เหตุศก.ไทยยังไม่ฟื้น ห่วงการบริโภคชะงัก
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ต่อไปหลังจากจะสิ้นสุดมาตรการ7% ในวันที่ 30 ก.ย.59 จากที่กำหนดจัดเก็บในอัตรา 10% โดยมองว่าจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องคงการจัดเก็บ VAT ไว้ที่อัตรา 7% ต่อไปอีก 1-2 ปี เพราะหากมีการปรับขึ้น VAT จะส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ในขณะที่รัฐบาลเองยังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคประชาชนเป็นสำคัญ
"ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เรายังจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพราะหากปรับขึ้น VAT คนจะใช้จ่ายน้อยลง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะทำได้ไม่ดีนัก" แหล่งข่าวกล่าว "อินโฟเควสท์"
พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลจะพิจารณาปรับขึ้นภาษี VAT ตามข้อแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ควรพิจารณาปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ในช่วงขาขึ้น และควรทยอยปรับขึ้นทีละ 1% ไม่ใช่การปรับขึ้นเป็น 10% ในคราวเดียว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการช็อคของเศรษฐกิจ โดยมองว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ถึงปีละ 5% ก็สมควรที่จะทยอยปรับขึ้นภาษี VAT ได้
"ถ้าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงขาขึ้น คือ GDP โตได้ปีละ 5% ก็มีความเหมาะสมที่จะเริ่มทยอยปรับขึ้น VAT ได้ แต่ควรจะทยอยขึ้นสัก 1-2% เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริโภค แต่ถ้าเศรษฐกิจยังทรงๆ อยู่แบบนี้ การปรับขึ้น VAT จะมีผลกระทบในวงกว้างมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับ การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เป็นอย่างเร็วในปลายเดือน เม.ย.นี้ หรืออย่างช้าภายในเดือน พ.ค.
อินโฟเควสท์
ปลัดคลัง เผยเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมขึ้น VAT จาก 7%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการลังยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% เพราะจะต้องพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจว่ายังต้องอาศัยหลายปัจจัยสนับสนุนการเติบโตหรือไม่ ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีไม่ว่าจะเป็นตัวใด อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในขณะนี้เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้ดี
ช่วงผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาแผนการปรับ VAT มาโดยตลอด และมองว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็อาจจะนำมาดำเนินการได้ แต่อาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวคงต้องขึ้นกับนโยบายของรมว.คลังและรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วนโครงการสำคัญของกระทรวงการคลัง ทั้งการปรับโคางสร้างภาษีเงินได้ และบ้านประชารัฐคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หลังจากผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว
ฝันรายได้จากภาษีเพิ่มอีกปีละ 2 แสนล้านคลังจ่อขึ้น VATเป็น 10%
แนวหน้า : เอาอีก! คลังขอขยับเป็น VAT 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 หลังจากปีที่แล้วขอปรับขึ้นแต่ไม่ได้รับอนุมัติ เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ด้าน กรมสรรพากร คาดมาตรการ "กินเที่ยวลดหย่อนภาษี" ช่วงสงกรานต์ปีนี้ทำให้มียอดใช้จ่ายในระบบเพิ่ม 10,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปัจจุบันเพดานจัดเก็บอยู่ที่10% แต่ปรับลดอัตราการเก็บ อยู่ที่ 7% จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559 หากรัฐบาลไม่ประกาศขยายเวลาลดอัตราออกไป ก็จะทำให้การเก็บภาษีVAT เป็น 10% ทันที มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มทันทีปีละ 2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กระทรวงการคลัง อยากเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายที่ขยายตัวรวดเร็วทำให้ต้องทำงบประมาณขาดดุลมาต่อเนื่องหลายปี แต่สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอทำให้เป็น ข้อจำกัดสำคัญทำให้ปรับเพิ่มภาษี VAT ไม่ได้เหมือนกับปี 2558 กระทรวงการคลัง ก็พยายามเพิ่มอัตราภาษี แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ต้องขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้หารือกับกรมสรรพากรอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อทำทางเลือกให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจต่อไป
"ตอนนี้คลังมีเรื่องการปฏิรูปภาษีอีกหลายตัวที่ต้องดำเนินการ นอกจากการตัดสินใจเรื่องอัตราภาษีVAT ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่ทำให้รายได้ของผู้เสียภาษีลดลง และการเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ" แหล่งข่าว กล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีของกรมภาษีต่างๆ ให้มากขึ้น โดยการเร่งทำระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนท์ เพื่อเชื่อมโยงกับการเสียภาษีของ กรมสรรพากร ทำให้การเก็บภาษีมีการรั่วไหลน้อยลง อย่างไรก็ตามระบบอี-เพย์เมนท์ ยังต้องใช้เวลาดำเนินการ อีกหลายปีถึงจะดำเนินการได้เต็มรูปแบบที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้
นอกจากนี้ ในส่วนของกรมสรรพากร ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยดำเนินการมาตรการบัญชีเดียว เพื่อให้ผู้เสียภาษีเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมา กรมสรรพากร ได้ใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังคน และระบบเทคโนโลยี มีการดำเนินการแผนการ กำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิด 9.04 แสนราย แผนการสำรวจและติดตาม ผู้ประกอบการรายใหม่เชิงคุณภาพ 2.67 แสนราย ให้เสียภาษีให้ครบถ้วน และแผนสำรวจผู้ประกอบการรายใหม่อย่างต่อเนื่องให้ได้ตามเป้าหมาย
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงมาตรการนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มาหักลดหย่อนภาษี ตั้งแต่วันที่ 9-17 เม.ย.2559 คาดว่าจะมียอดการใช้จ่าย 10,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่ามาตรการหักลดหย่อนภาษีสงกรานต์ปีนี้มีผลทำให้ร้านค้าเตรียมบริการลูกค้าอย่างคึกคักและบางแห่งต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 400,000 ราย จึงคาดว่าร้านค้าผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า เตรียมหารือผู้ประกอบการค้าทองคำ ทั้งร้านค้าปลีกและขายส่ง เพื่อดึงเข้ามาอยู่ในระบบภาษีผู้ประกอบการรายใหญ่ (LTO) เพื่อควบคุมดูแลผ่านระบบเดียวกันกับธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันการค้าทองคำของร้านค้าส่งและค้าปลีกไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเนื้อทองคำ แต่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่ากำเหน็จและการเสียภาษีปัจจุบันเป็นการประเมินต้นทุนคร่าว ๆ
โดยวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ กรมสรรพากรพร้อมไปชี้แจงผู้ประกอบการร้านค้าทองคำ โดยจะมีทั้งผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้ผลิต ที่ผ่านมาอาจแจ้งภาษีถูกต้องบ้าง ไม่ถูกบ้าง และเคยชินแบบแนวทางเดิม ๆ จึง ต้องปรับเข้าสู่ระบบอย่างเป็นมาตรฐาน ดังนั้น ปี 2559 จึงเป็นช่วงสนับสนุนให้จัดทำระบบบัญชีอย่างถูกต้อง จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ผู้ค้าทองคำจะเข้าสู่ระบบ เป็นมาตรฐานมากขึ้น จากปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี