WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังลังเลจ่ายค่าตอบแทนโบนัส 2 แบงก์รัฐขอหารือ'สตง.-ธปท.'ก่อน

    แนวหน้า : นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งให้ สคร.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมเพื่อหารือเรื่องการพิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทน (โบนัส) และผลดำเนินงานของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

     ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง 2 ธนาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องของจ่ายโบนัสให้พนักงานให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยเอสเอ็มอีแบงก์ ขอจ่ายโบนัสพนักงาน 4.75 เดือน ขณะที่ไอแบงก์ ยื่นเรื่องขอจ่ายโบนัสพนักงาน 3.27 เดือน และสำหรับคนที่ผลงานดีให้จ่ายเพิ่มอีก 0.29 เดือน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนสหภาพแรงงานของเอสเอ็มอีแบงก์ได้ส่งตัวแทนเข้าหารือถึงเรื่องการพิจารณาจ่ายโบนัสดังกล่าวกับทาง สคร.แล้ว

     "ปลัดต้องการให้หารือกับ สศค. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับแบงก์รับ และให้หารือ ธปท. กับ สตง.ในฐานะที่เป็นคนตรวจฐานะทางการเงิน เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาประกอบ เช่น เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) การขาดทุนสะสม อัตราการจ่ายโบนัสที่เหมาะสม หากทุกฝ่ายเห็นควรต้องจ่าย ทาง สคร. ก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้บอกว่าไม่ให้ แต่ขอคุยกันก่อน"นายกุลิศ กล่าว

   มีรายงานข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์ แจ้งง่า ผลการดำเนินงานของธนาคารปี 2556  ได้ผ่านการตรวจสอบจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ธนาคารมีกำไรสุทธิ 396 ล้านบาท  ซึ่งเป็นกำไรที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความรับผิดชอบจากกระทรวงการคลัง เมื่อเดือน ม.ค.  2556  ทั้งนี้หากจ่ายโบนัสให้พนักงานกว่า 1,600 คน ตามอัตราที่เสนอขอคือประมาณ 4 เดือน จะต้องใช้เงินราว 200 ล้านบาท

    ขณะที่รายงานข่าวจากไอแบงก์ แจ้งว่า ผลดำเนินงานปี 2556 ตามที่ สตง. รับรองแล้ว มีกำไร 2,702 ล้านบาท โดยผลจากการประเมินของ บริษัท ไทยเรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส (ทริส)  ในปีที่ผ่านมา ได้รับการประเมินอยู่ที่ 2.77 คะแนน จาก 5.0 คะแนน คาดว่าจะจ่ายโบนัสได้อย่างน้อยที่ 1เดือน

     รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า เอสเอ็มอีแบงก์ กับ ไอแบงก์ ติดอยู่ในรายชื่อรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง ที่มีปัญหาทางการเงินจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วย

นัด 4 หน่วยงานเคลียร์โบนัส'ธพว.-ไอแบงก'

      ไทยโพสต์ : พระรามหก * คลังเรียก 4 หน่วยงานถกจ่ายโบนัสพนักงานเอสเอ็มอีแบงก์-ไอแบงก์ หลังยืนกรานเสียงแข็งผลการดำเนินงานมีกำไร

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรม การนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ สคร., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมเพื่อหารือเรื่อง การพิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทน (โบนัส) และผลดำเนินงานของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

    เนื่องจากก่อนหน้านี้ ธนาคารทั้ง 2 แห่งยื่นเรื่องของจ่ายโบนัสให้พนักงาน โดยเอสเอ็ม อีแบงก์ขอจ่ายโบนัสพนักงาน 4.75 เดือน ขณะที่ไอแบงก์ยื่นเรื่องขอจ่ายโบนัสพนักงาน 3.27 เดือน และสำหรับคนที่ผลงานดีให้จ่ายเพิ่มอีก 0.29 เดือน

    ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวแทนสหภาพของเอสเอ็มอีแบงก์ได้ส่งตัวแทนเข้าหารือเรื่องการพิจารณาจ่ายโบนัสดังกล่าวกับทาง สคร.แล้ว

    "ปลัดกระทรวงการคลังต้องการให้หารือกับ สศค. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับแบงก์รัฐ และให้หารือ ธปท.กับ สตง. ในฐานะที่เป็นคนตรวจฐานะทางการเงิน เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาประกอบ เช่น เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) การขาดทุนสะสมอัตราการจ่ายโบนัสที่เหมาะสม หากทุกฝ่ายเห็นควรต้องจ่าย ทางสคร.ก็ไม่ขัดข้อง"นายกุลิศกล่าว

    รายงานข่าวจากเอสเอ็ม อีแบงก์ระบุว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารปี 2556 ได้ ผ่านการตรวจสอบจากสำนัก งานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ธนาคารมีกำไรสุทธิ 396 ล้านบาท เกิดจากการปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความรับผิดชอบจากกระทรวงการคลังเมื่อเดือน ม.ค.2556 ทั้งนี้ หากจ่ายโบนัสให้พนักงานกว่า 1.6 พันคน ตามอัตราที่เสนอขอ คือประมาณ 4 เดือน จะต้องใช้เงินราว 200 ล้านบาท

     ขณะที่ไอแบงก์แจ้งว่า ผลดำเนินงานปี 2556 ตามที่ สตง.รับรองแล้ว มีกำไร 2.7 พันล้านบาท โดยผลจากการประเมินของบริษัท ไทยเรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส (ทริส) ในปีที่ผ่านมา ได้รับการประเมินอยู่ที่ 2.77 คะแนน จาก 5.0 คะแนน คาดว่าจะจ่ายโบนัสได้อย่างน้อยที่ 1 เดือน.

สคร.เตรียมชงแผนฟื้น 10 รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาหนักเข้าซุปเปอร์บอร์ด ส.ค.

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง ที่มีปัญหาหนักนั้นคงต้องรอให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานอย่างเป็นทางการก่อน คาดว่าจะประกาศรายชื่ออนุกรรมการได้ในช่วงสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวส่งผลการดำเนินการงานเข้ามา รวมถึงแนวทางแก้ปัญหามาที่อนุกรรมการภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าแผนการดำเนินการงานที่มีอยู่นั้นแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ควรมีการปรับแก้อย่างไร

    "รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจะมีแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว สคร.เคยช่วยดูมาแล้ว แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่าทำตามแผนที่วางไว้ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น อนุกรรมการแก้ไขฯ จะเข้ามาช่วยดูอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร ตรงนี้จะต้องไม่ช้า คาดว่าจะเสนอแผนงานทั้งหมดของ 10 รัฐวิสาหกิจเข้าที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดได้ในเดือนสิงหาคม

    ส่วนความคืบหน้ากรณีตัดสิทธิประโยชน์พิเศษของคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ล่าสุด มีรัฐวิสาหกิจส่งข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์พิเศษของคณะกรรมการ (บอร์ด) มาให้ สคร.แล้ว 46 แห่ง ยังขาดอีก 10 แห่ง กำลังเร่งให้ส่งข้อมูลมาให้ครบเพื่อ สคร.จะสรุปเสนอไปยังกระทรวงการคลัง  หากเป็นรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สามารถใช้คำสั่ง คสช.ได้ทันที แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสนอไปยังบอร์ดให้ดำเนินการ

อินโฟเควสท์

ปัดฝุ่น รสก.56 แห่งใหม่ สั่ง สคร.ระดมกึ๋นกฎเหล็กให้ทันสมัยคลุมทั้งระบบ

    บ้านเมือง : นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คนร. เห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมีจำนวน 25 ฉบับ อาทิ กฎหมายด้านการเงินการคลัง การกำหนดคุณสมบัติกรรมการ แต่การบังคับใช้อาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร และอาจไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยและดูแลรัฐวิสาหกิจได้ครอบคลุมทั้งระบบ

   "เพื่อเป็นการวางนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ จะต้องดูแลในเรื่องของกฎหมายด้านการเงินหลายตัว กฎหมายเรื่องการบริหาร กฎหมายด้านการจำหน่ายหุ้นที่เราถือครองอยู่ กฎหมายคุณสมบัติกรรมการ ซึ่งมีอยู่ 25 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ สคร.ถือว่าเยอะมาก เลยให้ สคร.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาว่าจะสามารถปรับปรุงได้อย่างไรบ้าง อันไหนเก่าก็ทำให้เป็นปัจจุบันขึ้น ดูว่ามีกฎหมายตัวไหนบ้างที่เป็นที่ไปดึงการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เกิดความไม่คล่องตัว ก็ให้ยกเลิกหรือปรับปรุง แก้ไข เพื่อผ่อนคลายลง" นายกุลิศ กล่าว

   นอกจากนั้น คนร.ยังได้ให้ความสำคัญในการสร้างความโปร่งใสสำหรับจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ โดยให้นำแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นสากลมาใช้ และมอบหมายให้ สคร. ดำเนินการนำระบบการจัดซื้อจัดจ้างของสากลมาใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่เกิน 1 พันล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจ อาทิเช่น ขณะนี้โครงการลงทุนที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้หยุดไปก่อน 18 โครงการ ได้แก่ การจัดซื้อหัวรถจักร รถเมล์ 3,000 คัน การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะกลับมาอนุมัติใหม่ตามมาตรการกลั่นกรองดังกล่าว

   นายกุลิศ กล่าวต่อว่า ด้วยสภาพปัญหาด้านรัฐวิสาหกิจมีความซับซ้อน และนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจยังไม่มีการบูรณาการ คนร.จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด เพื่อดำเนินการในรายละเอียดและนำเสนอ คนร.ในกรอบระยะเวลาการทำหน้าที่ของ คสช. และก่อนมีการเลือกตั้ง 1.คณะอนุกรรมการด้านการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจรายแห่งในองค์รวม มีหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจและนำเสนอ คนร. เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีกองทัพบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

   2.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวม และนำเสนอ คนร. พิจารณา เพื่อให้รัฐวิสาหกิจไทยมีทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบกำกับรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ในการวางรากฐานการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การสรรหาคณะกรรมการ ผู้บริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง ธรรมาภิบาล การตรวจสอบ การเงินและการลงทุน รวมถึงการประเมินผลและการสร้างระบบแรงจูงใจ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน

   ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราเคยออกระเบียบที่เรียกว่า แนวทางการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่งจะนำกลับมาปรับปรุงใหม่ เมื่อคณะอนุกรรมการชุดนี้พิจารณาและวางรากฐาน ก็อาจจะออกเป็นกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่นำไปสู่การบังคับใช้อย่างชัดเจน แนวทางอาจจะแบ่งออกเป็น รัฐวิสาหกิจใดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจใดที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และรัฐวิสาหกิจใดที่ตั้งด้วยกฎหมาย ในการดูแลก็จะแยกต่างหากกัน ซึ่งก็จะร่วมถึงการพิจารณาในเรื่องของอัตราผลตอบแทนพนักงาน แนวทางการจัดทำการดำเนินงาน เป็นการวางรากฐานระยะยาว

   "เราจะเสนอให้หยิบแนวทางในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดีขึ้นมาปรับปรุงใหม่ จากนั้นทางอนุกรรการฯ ก็จะวางระบบแนวทางการจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยอาจจะเสนอออกเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นผลบังคับใช้ เพื่อวางรากฐานการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี" นายกุลิศ กล่าว

   สำหรับ โครงการลงทุน 100 ล้านบาทของรัฐวิสาหกิจนั้น ขณะนี้ สคร.ได้สรุปข้อมูลการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แล้วประมาณ 200 โครงการ และเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อหารือในการประชุม คนร.ต่อไป ส่วนในเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจที่ยังว่างอยู่นั้น สคร.กำลังจัดทำรายชื่ออยู่ โดยกระทรวงต้นสังกัดรัฐวิสาหกิจต้องนำเสนอไปยัง คสช.เพื่ออนุมัติ คาดว่าจะมีการตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ยังขาดอยู่ทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 บทนำมติชน

    สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้จัดทำบทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามระดับความร้ายแรงของปัญหา กลุ่มแรก วิกฤตร้ายแรงต้องเร่งแก้ไข มี 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก., การบินไทย, ทีโอที, องค์การคลังสินค้า, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง มี 4 หน่วยงาน และกลุ่มที่มีปัญหาบางเรื่อง 25 หน่วยงาน

   ความล้มเหลวของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เป็นเรื่องที่สังคมรับรู้อยู่ทั่วไป เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ประกาศนโยบายจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้สังคมเกิดความคาดหวังว่าจะดำเนินการได้ลุล่วงมากน้อยแค่ไหน ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มักมีการประกาศยกเครื่องรัฐวิสาหกิจ ด้วยการส่งคนของตนเองเข้ามา แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น กลายเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคล แต่ระบบยังคงเดิม

   คสช.ได้เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหาร ให้ผู้ที่มาจากพรรคการเมือง หรือทราบว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมพิจารณาตนเอง และตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน และสั่งการให้ศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน และคาดว่า การพิจารณาไม่น่าจะยาวนานเกินไป เพราะมีผู้วิจัยและเก็บข้อมูลไว้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

   ขณะที่นักวิชาการ นักบริหารทั้งภาคเอกชนและราชการ ได้ร่วมเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น จำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะยกเครื่องรัฐวิสาหกิจในขณะนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญคือ เห็นว่าปัญหามาถึงจุดที่วิกฤตมากแล้ว ไม่เฉพาะเปลี่ยนตัวบุคคลแต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร แก้ไขการจ่ายค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษจำนวนมากให้กับคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด สวัสดิการและค่าตอบแทนของพนักงาน รวมถึงโบนัสที่ไม่ได้สัดส่วนกับรายได้และผลกำไร ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่สำคัญคือประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยความเร่งด่วนอยู่ที่ 7 รัฐวิสาหกิจที่วิกฤตหนัก บางแห่งขาดทุนร่วมแสนล้านบาท นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการตัดสินใจของ คสช. เป็นอย่างยิ่ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!