- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 16 March 2016 23:45
- Hits: 6952
สรรพากร เตรียมเช็คข้อมูลลูกค้าแบงก์ ลดภาษีรั่วไหลรีดรายได้เข้ารัฐเพิ่มแสนล้าน
แนวหน้า : ผู้ประกอบการแห่เข้าโครงการทำบัญชีเดียวกว่า 4 แสนราย "สรรพากร" เร่งแก้กฎหมายขอเช็คข้อมูลธุรกรรมการเงินลูกค้าแบงก์ ลดการรั่วไหลของภาษี เตรียมชงครม.เดือนมิถุนายนนี้ คาดรีดรายได้เข้ารัฐเพิ่มแสนล้าน
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนา โค้งสุดท้ายมาตรการบัญชีชุดเดียวเรื่อง"การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการบัญชีเพื่อรองรับการปฏิบัติตาม มาตรการบัญชีชุดเดียว รุ่นที่ 3" ร่วมกับกรมพัฒนา ธุรกิจการค้า สภาวิชาชีพบัญชีว่า ยอดจดแจ้ง ผู้ประกอบการทำบัญชีเดียวที่เปิดตั้งแต่ 15 มกราคม-15 มีนาคม 2559 หลังหักรายที่ซ้ำซ้อนแล้วมี 4.3 แสนราย สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 3.5 แสนราย คาดว่าเมื่อปิดให้จดแจ้งแล้วจะมีผู้ประกอบการเข้ามาทำบัญชีเดียวครบ 100% ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับ การสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความ เข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับปรุงงบการเงินรอบบัญชีปี 2558 ที่จะยื่นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำบัญชีเดียวหลังจากนี้ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 จะให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับลงรายจ่ายอย่างไรให้ถูกต้อง ครบถ้วน มีการทำคู่มือรายจ่าย เอกสารประกอบการทำบัญชี ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมี กรมสรรพากรเป็นพี่เลี้ยง
"ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าระบบ เวลาที่ปรับมาใช้ระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนท์ เราจะทราบความเคลื่อนไหวทางการเงินทั้งหมด ทั้งการชำระเงินต่างๆ ข้อมูล จะเข้ามายังกรม ซึ่งจะสามารถตรวจสอบการเสียภาษีได้ทันที" นายประสงค์ กล่าว
นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการเรียกดูข้อมูลบุคคลที่ 3 จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นการส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนรายได้เพื่อมาตรวจสอบการเสียภาษีได้ในทันที โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ในประเทศเพิ่มขึ้น 30% หรือราว 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันเก็บได้ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี 3.5 แสนล้านบาทต่อปี
การเชื่อมข้อมูลกับระบบของธนาคารพาณิชย์ จะทำให้การจัดเก็บภาษีรั่วไหลลดลง จะเห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ที่มีการโอนเงินรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งในส่วนที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมก็จะตรวจสอบภาษีได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งยืนยันว่าไม่ส่งผล กระทบกับผู้เสียภาษี เพราะคนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัย ก็ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใสมากขึ้น
นายประสงค์กล่าวว่า ได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ขยายเวลายื่นเสียภาษีย้อนหลังได้ถึง 30 มิถุนายน 2559 จากกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายมีรอบบัญชีเกินวันที่ 31 ธันวาคมมาถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงเตรียมเสนอมาตรการนี้ ให้กับธุรกิจเฉพาะด้วย โดยไม่เสียค่าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มใดๆ
ขณะเดียวกัน กรมอยู่ระหว่างศึกษาให้ผู้ประกอบการ โอท็อปเข้าสู่ระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวขอภาษีคืน(tax refund) ได้ โดยจะปรับเงื่อนไขลดทุนจดทะเบียน 5 แสนล้านบาท จากปกติ 2 ล้านบาท คาดว่าจะมีเข้าระบบราว 20% ที่เป็นนิติบุคคลรายใหญ่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศภายในเดือนมีนาคมนี้ กรมสรรพากร จะเสนอครม.เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยขณะนี้ได้มีแนวทางเดียวแล้ว ซึ่งจะปรับปรุงให้ผู้ที่เสียภาษีได้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของค่าลดหย่อน ค่าใช้จ่าย และอัตราภาษี
สรรพากร ชี้ผู้ประกอบการร่วมโครงการบัญชีเดียวทะลุเป้า คาดรัฐได้ภาษีทางอ้อมเพิ่ม
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการสัมมนา โค้งสุดท้ายมาตรการบัญชีชุดเดียว เรื่อง การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการบัญชี เพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรการบัญชีชุดเดียว รุ่นที่ 3 ว่า เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการบัญชีชุดเดียวของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาตามเจตนารมณ์ของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการบัญชีชุดเดียว รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับ มุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขข้อผิดพลาดทางการบัญชีที่เกิดขึ้นในอดีต การตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินรอบปีปัจจุบัน
ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับปรุงงบการเงินรอบบัญชีปี 2558 ที่จะยื่นในวันที่ 29 พ.ค.59 ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของธุรกิจ (บัญชีชุดเดียว) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 เป็นต้นไป สำหรับการจดแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 15 มี.ค.59 พบว่าขณะนี้มีจำนวนผู้เข้ามาจดแจ้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว 470,000 ราย ซึ่งหากผู้ประกอบการทุกรายให้ความร่วมมือจัดทำบัญชีและงบการเงินถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธุรกิจ (บัญชีชุดเดียว) จะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า ภายหลังการครบกำหนดการยื่นจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวในวันที่ 15 มี.ค. นี้ จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 4.3 แสนราย หลังจากตัดรายชื่อผู้ที่ยื่นซ้ำออกเรียบร้อยแล้ว จากปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการที่ 4.7 แสนราย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.5 แสนราย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย
ทั้งนี้ มาตรการผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวจะทำให้กรมฯ เสียรายได้ทางตรงจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จดทะเบียนถูกต้องในระบบ 3 หมื่นรายในปี 2559 ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็จะได้ภาษีทางอ้อมกลับคืนมาในระยะยาว โดยภายในวันที่ 28 มี.ค. นี้ กรมฯ ก็จะเดินสายให้ความรู้ในการทำบัญชีรายจ่ายให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทันในปีบัญชี 2558 กรมได้เสนอคลังขยายเวลายื่นเสียภาษีย้อนหลังได้ถึง 30 มิ.ย.59 โดยไม่เสียค่าปรับ เงินเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ กรมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเรียกดูข้อมูลของบุคคลที่ 3 ซึ่งจะเป็นการสุ่มตรวจรายได้ และธุรกรรมทางการเงิน ทั้งในส่วนของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยในส่วนนี้จะรวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย และจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรม และช่วยปิดช่องโหว่เกี่ยวกับการสูญเสียภาษีทางอ้อม โดยยืนยันว่าการดำเนินการในส่วนนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องแน่นอน
"การแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ จะเข้ามาช่วยทดแทนภาษีทางตรงที่กรมต้องสูญเสียไป อาทิ การลดภาษีให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ทำให้กรมเสียรายได้ 2 หมื่นล้านบาท และในอนาคตมองว่าหัวใจหลักของภาษีที่จัดเก็บคือภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง ซึ่งตรงนี้เรามองว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ทางอ้อม โดยเฉพาะจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างน้อย 30% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศอยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านบาท"นายประสงค์ กล่าว
อินโฟเควสท์