- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 12 July 2014 20:54
- Hits: 2884
ซูเปอร์ บอร์ดจี้ส่งแผนฟื้นฟูใน15วัน ผ่าตัด 10 รัฐวิสาหกิจขาดทุน
แนวหน้า : ผู้อำนวยการ สคร. สั่งรัฐวิสาหกิจมีปัญหาการเงิน อาทิ ร.ฟ.ท.-การบินไทย-ทีโอที-ขสมก.ส่งแผนฟื้นฟูกิจการด่วน ก่อนส่ง 'ซูเปอร์ บอร์ด' กลาง ส.ค. เผย 'บิ๊กตู่'พร้อมตั้งอนุกรรมการอีก 3 ชุด แบ่งแก้ไขปัญหา โดยดึง'ประสาร'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ร่วมทีม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เปิดเผยว่า ในการแก้ไขปัญหาของบางรัฐวิสาหกิจที่กำลังมีปัญหาขาดทุนหนัก ทางอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจ ชุดที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานจะให้รัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ในขณะนี้ประมาณ 10 แห่ง ให้เสนอแผนการทำงาน และแผนการแก้ไขเข้ามา เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาว่าจะมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อรัฐวิสาหกิจได้ส่งแผนมาให้คณะอนุกรรมการแล้ว โดยจะให้เวลาส่งแผนภายใน 15 วันหลังจากที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นคณะอนุกรรมการก็จะพิจารณาว่าแผนที่รัฐวิสาหกิจเสนอมามีความเป็นไปได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็จะมีข้อเสนอว่าต้องแก้ไขอย่างไร หลังจากนั้นจะส่งไปคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้พิจารณาภายในกลางเดือนส.ค.นี้
“รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหานั้นมีแผนต่างๆ เตรียมไว้พร้อมแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ยอมทำตามแผนที่วางไว้ทำให้ปัญหาต่างๆ ยังไม่หมดไป และมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี บางแห่งกำลังจะหมดอายุสัมปทาน ดังนั้น คนร.ต้องเข้าไปช่วยดูว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร มีช่องโหว่ในการทำงานอย่างไรบ้าง และควรจะแก้ปัญหาอะไร” นายกุลิศ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า รัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง ที่มีปัญหาขาดทุนหนัก โดยจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกิจแบบเสือนอนกิน หรือกินหัวคิว อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งมองว่าต้องเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนนี้อย่างเร่งด่วน
“มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผน เมื่อมีการส่งแผนเข้าก็จะไปสแกนดูว่า แผนต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เป็นเพียงแค่นามธรรมหรือเปล่า มีแล้วแต่ปฏิบัติไม่ได้หรือเปล่า หากเป็นเช่นกันก็ให้ชุดแก้ไขทิศทางที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานพิจารณาก่อนส่งให้ซูเปอร์บอร์ดดูไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้” รายงานข่าว ระบุ
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะประธาน คนร. ได้สั่งให้มีการปรับกระบวนการในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ วิสาหกิจให้เกิดความโปร่งใส ด้วย
นายกุลิศกล่าวว่า ที่ประชุม คนร.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อแบ่งหน้าที่เข้ากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ โดยมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการกำหนดแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจของประเทศ โดยมีหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน โดยคาดว่ากรรมการของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด จะสรุปได้ภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับ กรรมการของคณะอนุกรรมการในแต่ละชุดจะมีจำนวน 9-11 คน โดยจะมีผู้อำนวยการ สคร.นั่งเป็นกรรมการอยู่ทุกชุด และมีเจ้าหน้าที่สคร.เข้าไปช่วยทำงาน นอกจากนี้จะเชิญภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เข้ามาร่วมทำงานด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการในแต่ละชุดต้องเร่งรวบรวมข้อมูลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นปัญหา พร้อมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าต่อไปได้ จากนั้นจะเสนอไปยังคนร. โดยการประชุม คนร.นั้น จะมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน โดยเชื่อว่าปัญหาของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งเรื่องบุคลากร การลงทุน ความโปร่งใส จะได้รับการแก้ไขได้โดยเร็ว