- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 02 March 2016 23:25
- Hits: 3519
รมว.คลัง เผยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบริหาร NPL ได้ดีกว่าแบงก์พาณิชย์-แนะดูแลหนี้ครัวเรือน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงผลการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ซึ่งดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐที่มีการแยกบัญชี (PSA) ที่มียอดสินเชื่อสูงถึง 7.8 แสนล้านบาท ว่า ต้องการให้มีการพิจารณาที่ในรายละเอียดมากกว่า เพราะถึงแม้จะมีวงเงินสินเชื่ออยู่ในระดับสูง แต่กลับเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพียง 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3% เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในระดับ 2%
โดยระดับหนี้ NPL ดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น
"ตอนนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ และต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นและเรียกความมั่นใจจากนักลงทุนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากมีกระแสข่าวในเชิงลบออกมาก็จะเป็นการทำลายความมั่นใจ ดังนั้นอยากให้เอาความจริงมาพูดกันมากกว่า" นายอภิศักดิ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่อาจจะมาจากทั้งความเข้าใจและความไม่เข้าใจแต่ต้องการเพียงความหวือหวา ดังนั้นจึงอยากให้มองที่ความจริงทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าเงินที่ใช้ดำเนินการผ่านการให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมดนั้น มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเป็นหลัก
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลัง เร่งวางแนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัวของระดับหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับทรงตัวและไม่เพิ่มขึ้นเหมือนที่เคยเป็นในช่วง 8 ปีก่อน โดยปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 81.1% ของจีดีพี ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คอยดูแลอย่างใกล้ชิด จึงอาจไม่น่าเป็นกังวลมากนัก
"ก่อนหน้านี้มีข้อมูลระบุว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาระดับหนี้ครัวเรือนของไทยขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมาทรงตัวในปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้สอบถามถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในช่วงก่อน ซึ่งมีการชี้แจงว่าเกิดจากมาตรการรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก และการใชับัตรเครดิต ทำให้สามารถแบ่งประเภทหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือหนี้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด ซึ่งก็คือบ้านเป็นหลัก และอีกส่วนคือหนี้ที่สนับสนุนการใช้จ่ายให้คล่องตัว ซึ่งต้องดูแลในส่วนนี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
อินโฟเควสท์