- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 22 February 2016 22:07
- Hits: 3195
ธนารักษ์ เล็งให้ธพส.ทำโครงการบ้านประชารัฐสร้างคอนโดให้ขรก.เช่า
แนวหน้า : นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ มีแนวทางที่จะให้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด(ธพส.) ที่กระทรวง การคลังถือหุ้น 100% เข้ามาดำเนินการ โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจนหรือบ้านประชารัฐ หากไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างเตรียมที่ราชพัสดุไว้รองรับโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ยังอยู่ระหว่างเจรจากับภาคเอกชนให้เร่งส่งแบบที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยในราคาถูก โดยเบื้องต้นต้องพิจารณาถึงต้นทุนการดำเนินงานและขนาดของพื้นที่ด้วย ส่วนที่ราชพัสดุที่มีความพร้อมมากที่สุดในขณะนี้และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ คือ แปลงในซอยวัดไผ่ตัน โดยจะก่อสร้างในรูปแบบคอนโดมิเนียม 7 ชั้น 500 ห้อง เพื่อรองรับข้าราชการ และลูกจ้างประจำ รัฐวิสาหกิจ ที่เพิ่งเริ่มทำงานและมีรายได้น้อยเข้ามาในลักษณะของการเช่า โดยเชื่อว่าทำเลนี้อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ และจะช่วยประหยัดค่าเดินทาง และลดค่าครองชีพในส่วนอื่นๆ ได้มาก
"ตอนนี้ได้เริ่มให้บริษัทเอกชนออกแบบการก่อสร้างแล้ว ทำเสร็จก็จะให้เสนอมาให้เราพิจารณา หลักการคือจะให้เป็นที่อยู่อาศัยแบบเช่าระยะสั้น ไม่ปล่อยเช่ายาวมาก ด้วยลักษณะพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมือง จึงอาจมีความต้องการมาก ก็จะให้กับกลุ่มเพิ่งเริ่มทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการก่อน แต่ตอนนี้ อาจต้องมาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ใหม่เกี่ยวกับการกำหนดเส้นรายได้สำหรับประชาชนที่เข้าโครงการนี้ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ตอนนี้เงินเดือนเริ่มต้นส่วนใหญ่ก็ 1.5 หมื่นบาทแล้ว อาจมีการขยับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้อง กับสถานการณ์เล็กน้อย" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว
นายจักรกฤศฎิ์ กล่าวว่า ในส่วนของอัตราค่าเช่ายังไม่ได้สรุปชัดเจน แต่เบื้องต้นอาจจะอยู่ที่ ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าถูกมาก โดยหลังจากนี้จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการในเรื่องของการคัดเลือกผู้เข้ามาเช่า และการคัดเลือกคนออกหลังมีคุณสมบัติไม่ตรงกับเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ซึ่งจะมีการดูรายละเอียดข้อมูลส่วนนี้ประกอบการต่อสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์เตรียมไว้รองรับโครงการบ้านประชารัฐ มีทั้งสิ้น 6 แปลง คาดว่า จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ 3,400 ยูนิต ได้แก่ แปลงที่ดินวัดไผ่ตัน, บริเวณด้านหลังโรงกษาปณ์ (ประดิพัทธ์), เชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 9 ไร่ แต่มีส่วนราชการแสดงความสนใจจะให้พื้นที่เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มเติม, ชะอำ 2 แปลง และเชียงราย 30 ไร่ (เปลี่ยนจากแปลงเดิมอยู่ในความครอบครองเป็นพื้นที่ทหาร มาใช้ที่ราชพัสดุ ในอำเภอแม่จัน แทน)
เดินหน้าบ้านประชารัฐผุดคอนโดฯวัดไผ่ตัน
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * ธนารักษ์ยันพร้อมเต็มสูบเดินเครื่องโครงการบ้านประชารัฐ สั่งเอกชนเร่งเขียนแบบลุยก่อสร้าง เล็งปักเสาเข็มที่ราชพัสดุวัดไผ่ตัน ผุดคอนโดมิเนียม 7 ชั้น 500 ห้อง เตรียมเปิดให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ยืนยันว่ากรมมีความพร้อมในเรื่องการเตรียมที่ดินราชพัสดุไว้รองรับโครงการบ้านประชารัฐแล้ว แต่หากไม่มีเอกชนสนใจทำสัญญาเช่าเพื่อพัฒนาโครงการก็จะให้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ซึ่งกระ ทรวงการคลังถือหุ้น 100% เป็นผู้เข้าไปดำเนินการเอง
ขณะนี้ กำลังเร่งเจรจากับภาคเอกชนให้เร่งเดินหน้าในการเขียน หรือส่งแบบบ้านที่มีอยู่เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกตามโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนการดำเนินงาน และขนาดของพื้นที่ด้วย โดยเบื้องต้นจะดำเนินการบนที่ราชพัสดุบนแปลงวัดไผ่ตันก่อน เนื่องจากมีความพร้อมแล้ว จะสร้างเป็นคอนโดมิเนียมชั้นดี 7 ชั้น จำนวน 500 ห้อง เพื่อเปิดให้ข้าราชการ และลูกจ้างประจำ รัฐวิสาหกิจ ที่เพิ่งเริ่มทำงานและมีรายได้น้อยเข้ามาเช่าอยู่อาศัยก่อน เนื่องจากเป็นทำเลที่ใกล้กับสถานที่ราชการ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่า เดินทาง และลดค่าครองชีพใน ส่วนอื่นๆ ได้มาก "ตอนนี้ได้เริ่มให้บริษัทเอกชนออกแบบการก่อสร้างแล้ว ทำเสร็จก็จะให้เสนอมาให้เราพิจารณา หลักการคือจะให้เป็นที่อยู่อาศัยแบบเช่าระยะสั้น ไม่ปล่อยเช่ายาวมาก ด้วยลักษณะพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมือง จึงอาจมีความต้องการมาก ก็จะให้กับกลุ่มเพิ่งเริ่มทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการก่อน" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
นายจักรกฤษฏิ์กล่าวอีกว่าในส่วนของอัตราค่าเช่ายังไม่ได้สรุปชัดเจน แต่เบื้องต้นอาจจะอยู่ที่ 2-3 พันบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าถูกมาก รวมถึงหลังจากนี้กรมจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการในเรื่องของการคัดผู้เข้ามาเช่า และการคัดเลือกคนออกหลังมีคุณสมบัติไม่ตรงกับเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ซึ่งจะมีการดูรายละเอียดข้อมูลส่วนนี้ประกอบการต่อสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์เตรียมไว้รองรับโครงการบ้านประชารัฐ มีทั้งสิ้น 6 แปลง คาดว่าจะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ 3.4 พันยูนิต ได้แก่ แปลงที่ดินวัดไผ่ตัน, บริเวณด้านหลังโรงกษาปณ์ (ประดิพัทธ์), เชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 9 ไร่ แต่มีส่วนราชการแสดงความสนใจจะให้พื้นที่เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มเติม, ชะอำ 2 แปลง และเชียงราย 30 ไร่ (เปลี่ยนจากแปลงเดิมอยู่ในความครอบครองเป็นพื้นที่ทหาร มาใช้ที่ราชพัสดุ ในอำเภอแม่จันแทน).
รัฐเว้นค่าเช่าคนจน-ภัยแล้ง ธนารักษ์เล็งปรับค่าเช่าใหม่บางพื้นที่สอดรับราคาตลาด
บ้านเมือง : กรมธนารักษ์ยกเว้นเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ที่ประสบภัยแล้งและผู้มีฐานะยากจนเป็นเวลา 1 ปี พร้อมเตรียมปรับค่าเช่าใหม่ ในบางพื้นที่ให้สอดคล้องกับราคาตลาด หวังสร้างรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ ธปท.-คลังร่วมเปิดสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจ มหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ที่สิงคโปร์
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อประกอบการเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งและมีฐานะยากจน โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีประสบปัญหาภัยแล้งไม่สามารถประกอบการเกษตร หรือพืชผลได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติแล้ว ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี และกรณีที่ผู้เช่าได้ชำระค่าเช่าไปแล้ว ให้นำค่าเช่า ดังกล่าวเป็นค่าเช่าในปีถัดไป ขณะที่กรณีที่มีฐานะยากจนให้ยกเว้นเรียกเก็บค่าเช่าปี 2559 เป็นเวลา 1 ปีทั่วประเทศ และหากเดือดร้อนมีการค้างชำระค่าเช่าให้จังหวัดพิจารณายกเว้นเรียกเก็บค่าเช่าที่ค้างชำระเช่นกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้กรม ธนารักษ์สูญเสียรายได้จากค่าเช่าประมาณ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบผู้มีฐานะยากจนว่ามีจำนวนเท่าไหร โดยจะประสานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้เช่าที่ราชพัสดุที่มีฐานะยากจนที่ได้จะรับการช่วยเหลือ โดยขณะนี้มีการประกาศพื้นที่เป็นเขตภัยแล้งจำนวน 9 จังหวัด 31 อำเภอ ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย มหาสารคาม สระแก้ว นครราชสีมา นครพนม อุตรดิตถ์ พะเยา และเชียงใหม่
ขณะเดียวกัน ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจสัญญาเช่าที่ค้างอยู่ทั้งหมด คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นไปตามราคาตลาด เนื่องจากราคาเดิมในหลายพื้นที่ เช่น สมุทรปราการ ต่ำกว่าราคาตลาดมาก จากปัจจุบันค่าเช่าเดิมแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ 0.25 บาท-ถึง 1.50 บาทต่อตารางวา และเชิงพาณิชย์ สูงสุดอยู่ที่ 2.50 บาท ต่อตารางวา โดยจะอ้างอิงกราคาที่ดินใหม่ ซึ่งผู้เช่ารายใหม่จะต้องใช้อัตราค่าเช่าใหม่ และจะต้องมีการทำสัญญาเช่าที่เป็นมาตรฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตัดสิน และให้ดำเนินการใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ส่วนผู้เช่ารายเดิมจะเป็นไปตามสัญญาเดิมจนกว่าจะหมดอายุสัญญา
"มีผู้เช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ประมาณ 100,000 ราย และมีบางส่วนที่ติดค้างค่าเช่ามาเป็นระยเวลานาน คิดเป็นมูลค่าหลาย 10 ล้านบาท ซึ่งกรมธนารักษ์จะเน้นการให้เช่าเชิงพาณิชย์มากขึ้น" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว
สำหรับ รายได้จากการค่าเช่าที่ราชพัสดุ มีประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากเอกชน 1,000 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 3,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าเช่าพื้นที่เกษตร ซึ่งหากแผนขึ้นค่าเช่าและพัฒนาพื้นที่ใหม่สำเร็จภายใน 5 ปี จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการฐานะองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.59 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากธนาคารกลางและกระทรวงการคลังประเทศสมาชิก สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศประจำประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมงาน รวมทั้งนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ได้เข้าร่วมงานในฐานะผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย
โดย AMRO เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (อาเซียน +3) โดยมีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจประเมินแนวโน้ม ตลอดจนความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงิน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แม้ว่า AMRO จะได้เริ่มดำเนินงานในรูปบริษัทจำกัดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 แต่จากภารกิจที่เพิ่มขึ้นข้างต้นสมาชิกอาเซียน+3 ตระหนักถึงความสำคัญของ AMRO ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค จึงได้เร่งรัดการดำเนินการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ AMRO โดยได้จัดทำความตกลงจัดตั้งสำนักงาน วิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO Agreement) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.58 และความตกลงดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.พ.59 จึงทำให้ปัจจุบัน AMRO เปลี่ยนแปลงสถานะจากบริษัทจำกัดมาเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์