- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 18 February 2016 00:05
- Hits: 3500
รัฐประหยัดงบ 1.3 หมื่นล.หลังใช้อีมาร์เก็ต-อีบิดดิ้งจัดซื้อจัดจ้าง
แนวหน้า : นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรม บัญชีกลาง เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลให้ใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-มาร์เก็ต และ อี-บิดดิ้งกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด แทนระบบอี-อ๊อกชั่น เพื่อป้องกันปัญหา การทุจริตและการรั่วไหลของงบประมาณ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ถึงสิ้นเดือน ธันวาคม 2558 พบว่าประหยัดงบประมาณ ได้ 1.34 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการประมูลแบบอี-บิดดิ้ง มีโครงการที่ประมูลสำเร็จ 2.07 หมื่นโครงการ เป็นวงเงินที่ประมูลชนะ 1.19 แสนล้านบาทจากเงิน งบประมาณที่ตั้งไว้ 1.32 แสนล้านบาท ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ 1.3 หมื่นล้านบาทหรือ 9.95%
สำหรับ ประมูลแบบอี-มาร์เก็ต จำนวนผู้ประมูล สำเร็จ 116 โครงการ มูลค่าที่ประมูลชนะ 205 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 249 ล้านบาท ทำให้ประหยัด งบประมาณไปได้ 44 ล้านล้านบาท หรือ 17.86%
นายมนัส กล่าวว่า ในส่วนของประมูลแบบอี-มาร์เก็ต ที่ตอนนี้มีประมูลวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน ได้แก่ กระดาษ แฟ้มเอกสาร ตลับผงหมึก และยา ในเดือนมีนาคมนี้ จะมีรายการประมูลเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เอกสาร ตู้ล็อกเกอร์ และฉากกันโต๊ะทำงาน รวมถึงจะเพิ่มรายการเครื่องใช้สำนักงานทุก 3 เดือน อย่างน้อย 4 รายการ ซึ่งจะทำให้ประหยัด งบประมาณและการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของไทยมีความ โปร่งใสมากขึ้น
สำหรับ การผ่อนปรนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแบบอี-มาร์เก็ต และ อี-บิดดิ้ง ในส่วนของโครงการที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 นี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเบิกจ่ายรวดเร็ว ในโครงการลงทุนขนาดเล็ก ทางกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการประเมิน หาก การผ่อนผันให้โครงการไม่เกิน 5 แสนบาท ให้ใช้วิธีตกลงราคา และโครงการเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ใช้วิธีการสอบราคา ในช่วงที่ผ่านไม่มีการทุจริต ก็จะให้มีการผ่อนผันเป็น การถาวร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเบิกจ่าย
นายมนัส กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ..... อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนพ.ค. 2559 จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตมากขึ้น เนื่องจาก บทลงโทษรุนแรง มีความผิดทางอาญาร่วมด้วย จากเดิม ที่มีความผิดทางวินัยและความรับผิดทางแพ่ง โดยความผิดทางอาญาให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รวมถึงผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือสนับสนุนให้กระทำผิด ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาท ถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งบทลงโทษนี้รุนแรงกว่ากฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรการ 157