- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 09 July 2014 23:46
- Hits: 2855
หั่นโบนัสรัฐวิสาหกิจ อึดอัดบอร์ดผลาญงบมากเกินไป-แฉแต่งบัญชีเลี่ยงกฎระเบียบดึงเงินออก
แนวหน้า : เผยงานแรกซุปเปอร์บอร์ด ลดค่าใช้จ่ายรัฐวิสาหกิจ เล็งเป้าแรก หั่นเงินโบนัส และค่าตอบแทนแฝงอื่นๆ ของคณะกรรมการ ส่วนพนักงานควรได้รับในอัตราที่เหมาะสม ตะลึงบางรัฐวิสาหกิจ ต้องควักปีละ 3-4 พันล้านบาท ผงะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่นทอท.ให้ถึง 11 เดือน ยันต้องลดลง ส่วนรัฐวิสาหกิจที่กดเพดานอัตราสูงสุดให้ต่ำกว่า 8 เดือน
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 9 ก.ค.นี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน โดยจะมีการหารือถึงกรอบนโยบายการบริหารและกำกับรัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส นอกจากนี้ยังมีการหารือในส่วนการจ่ายผลตอบแทนกรรมการ รวมถึงโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากพบว่ากรรมการบางรายมีผลตอบแทนทางอ้อมที่ซ่อนเป็นรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจในจำนวนที่สูง
ขณะที่การจ่ายโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทาง คสช. ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการของซุปเปอร์บอร์ด ทำข้อมูลรายงานให้คณะกรรมการรับทราบ เนื่องจากพบว่ามีหลายรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสข้าราชการสูงถึงปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท แต่ต้องมาขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังพบว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จ่ายโบนัสให้พนักงานปีที่ผ่านมาสูงถึง 11 เดือน ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเทียบกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอื่น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทาง คสช. ต้องการปรับปรุงการจ่ายผลตอบแทนกรรมการและการจ่ายโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ประหยัดเงินของประเทศ ส่วนการจ่ายเงินผลตอบแทนของคณะกรรมการจะมีการเสนอให้ลดผลตอบแทนการเบิกจ่ายค่ารับรองที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ โดยในเบื้องต้นพบว่าคณะกรรมการบางรายได้เบิกเงินในส่วนดังกล่าวสูงถึง 3-4 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งมีทั้งค่าเดินทางไปต่างประเทศดูงาน การเลี้ยงรับรองลูกค้ารายใหญ่ เป็นต้น
สำหรับการจ่ายเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจจะเสนอให้มีการจ่ายโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ใหม่ จากปัจจุบันจ่ายได้สูงสุดถึง 8 เดือน อาจจะต้องลดจำนวนเดือนลง หากไม่ลดจำนวนเดือนก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นของการประเมินที่เป็นเกณฑ์การจ่ายโบนัสให้เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้จะเสนอว่าการจ่ายโบนัสต้องเป็นกำไรจากผลการดำเนินงานจริงๆ ไม่ใช่โยกเงินทางบัญชี เช่น เงินสำรองหนี้เสียกลับมาเป็นกำไร และการจ่ายโบนัสต้องกันเงินไว้สำหรับการเพิ่มทุนก่อน ไม่ใช่จ่ายโบนัสก่อนและมาขอเงินงบประมาณเพิ่มทุน
ในส่วนของการจ่ายเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเสนอให้มีการทบทวนจำกัดเพดานเหมือนกับรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลสรุปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของซุปเปอร์บอร์ดที่จะเสนอให้ คสช. เห็นชอบออกมาเป็นคำสั่งต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ได้สรุปตัวเลขเกี่ยวกับค่าตอบแทนหรือรายจ่ายที่ รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องจ่ายให้กับคณะกรรมการ(บอร์ด)ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งบางแห่งพบว่าสูงมาก และบางรายการเป็นการจ่ายที่เกินความจำเป็น เช่นกรณีของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ แบงก์รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการได้มีการเบิกจ่ายเงินพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของธนาคาร หรือ ที่เรียกกันว่าค่ารับรอง เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงถึง 3-4 แสนบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ สำหรับการเบิกเงินพิเศษดังกล่าว ได้รวมการเบิกค่าเรื่องรับรองลูกค้า ซึ่งบางครั้งรวมถึงค่าใช้จ่ายตีกอล์ฟกับลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังมีค่าเดินทางไปต่างประเทศ และในประเทศ ในชั้นหนึ่ง โดยอ้างว่าไปดูงานที่เกี่ยวกับกิจการของธนาคาร ซึ่งไม่มีการจำกัดการเดินทาง สามารถไปได้เท่าที่คณะกรรมการต้องการและเห็นชอบ
และจากการตรวจสอบพบว่า ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการเบิกเงินพิเศษสูงมาก บางเดือนประธานกรรมการ หรือกรรมการธนาคารบางราย มีการเบิกค่ารับรองพิเศษเดือนหนึ่งสูงถึง 3-4 แสนบาท รองลงมาคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอเบงก์)
“แบงก์รัฐหลายแห่งไม่มีการจำกัดเพดานที่กรรมการเบิกค่ารับรองพิเศษ บางธนาคารให้บัตรเครดิตกรรมการใช้จ่ายแทนเงินสด ซึ่งรายจ่ายทั้งหมดไม่ได้ถูกบันทึกเป็นผลตอบแทนของกรรมการ แต่ถูกบันทึกว่าเป็นรายจ่ายของธนาคาร” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อได้พิจารณาดูแล้วการเบิกจ่ายค่ารับรองของกรรมการแบงก์รัฐ เมื่อเทียบมูลค่าแล้วถือว่าไม่น้อยไปกว่าตั๋วฟรีที่กรรมการบริษัทการบินไทยได้รับ และ คสช. ได้ตัดสิทธิ์ดังกล่าวไป โดยคาดว่าในครั้งนี้ คสช. จะพิจารณาตัดสิทธิ์การเบิกจ่ายของกรรมการให้ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล