- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 29 January 2016 08:31
- Hits: 2492
สศค. มั่นใจโครงการ ศก.ฐานราก เม็ดเงินไม่รั่วไหล ดัน จีดีพีปีนี้ โต 0.15%
สศค. คาด โครงการเพิ่มความเข้มแข็ง ศก.ฐานราก กระตุ้นจีดีพีปีนี้ โต 0.15% จากเดิมประมาณการโต 3.8% เผย โครงการดังกล่าวช่วยส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ ยัน ไม่เกิดปัญหาเม็ดเงินรั่วไหล...
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึง ครม.( 26 ม.ค.) มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 35,000 ล้านบาท โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยเชื่อว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีทั้งหมด 79,556 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยหลังจากเม็ดเงินโครงการดังกล่าวลงไปในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนแล้ว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 59 ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 0.15% จากล่าสุดที่ สศค.ประมาณการไว้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8%
สำหรับ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำในชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งการใช้เพื่อการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่ให้ชุมชนดีขึ้น
พร้อมมั่นใจการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชน หรือแต่ละหมู่บ้านในโครงการดังกล่าวนี้ จะไม่เกิดปัญหาเม็ดเงินรั่วไหล เนื่องจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติได้มีการวางกฎระเบียบ และแนวทางการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินให้แต่ละกองทุนในแต่ละหมู่บ้านอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันในจำนวนหมู่บ้าน และชุมชนทั้งหมดกว่า 7.9 หมื่นหมู่บ้านนั้น ก็มีหมู่บ้านที่มีการจัดอันดับไว้เป็นระดับ A และระดับ B มากถึงเกือบ 6 หมื่นหมู่บ้าน ซึ่งมีผลงานในการบริหารจัดงานเงินในกองทุนที่ได้รับไปก่อนหน้านี้อย่างเป็นระบบ และมีการนำเงินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ.
คลัง ยันปี 59 ไทยมีสภาพคล่องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่จำเป็นกู้ AIIB
สศค. เผย ไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจาก AIIB เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เหตุ ยังมีสภาพคล่องสูง ขณะที่ ปีหน้ายังต้องพิจารณาต่อ ชี้ ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ...
ภายหลัง ครม. (26 ม.ค.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ อนุมัติวงเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) และร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อบทของความตกลงที่ร่วมลงนามไปเมื่อ 29 ก.ย.2558 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารอย่างสมบูรณ์
ล่าสุดวันที่ 27 ม.ค. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะเริ่มมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อยู่หลายโครงการในขณะนี้ แต่มองว่าปีนี้อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคาร AIIB เนื่องจากไทยยังมีสภาพคล่องสูง ส่วนในปีหน้าคงต้องพิจารณาจากตลาดในประเทศ รวมทั้งสภาพคล่องภายในประเทศที่เหลืออยู่ก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขอกู้ หรือไม่ ต้องขึ้นกับหลายองค์ประกอบ ซึ่งหลักการกู้เงินจาก AIIB เป็นในลักษณะเช่นเดียวกับ World Bank และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)
ทั้งนี้ วงเงินลงทุนรวมทั้งหมดในการจัดตั้งธนาคาร AIIB อยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศสมาชิกที่จะใส่เงินทุนลงไปในการจัดตั้งธนาคาร AIIB สูงสุดเป็นอันดับ 10 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ โดยไทยจะใส่เงินทุนลงไป 1.4275% หรือคิดเป็นเงินราว 285.51 ล้านดอลลาร์ แบ่งการชำระเงินไว้ 5 ปี ปีละประมาณ 57 ล้านดอลลาร์
มีรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีความริเริ่มในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย เพื่อเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เริ่มขึ้นเมื่อเดือนต.ค. 2556 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมหารือในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง ร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ โดยขณะนี้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว 30 ประเทศ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2559 AIIB ได้มีพิธีเปิดทำการธนาคารอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของ ธนาคาร AIIB ถือเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และในสาขาการผลิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกรวมถึง ประเทศไทย โดยภูมิภาคเอเชียยังมีความต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งการดำเนินงานของธนาคารจะสอดคล้องกับแนวนโยบายของ รัฐบาลไทยในอันที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศ สมาชิกในภูมิภาค การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป.
ที่มา : www.thairath.co.th