- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 28 January 2016 13:23
- Hits: 3746
สศค.คาด โครงการเพิ่มความเข้มแข็งศก.ฐานราก จะกระตุ้นจีดีพีปีนี้ 0.15% เร่งนำพ.ร.บ. AIIB เข้าสนช.เร็วที่สุด หวังลงนามสัตยาบันก่อนมิ.ย.นี้
สศค.คาด โครงการเพิ่มความเข้มแข็งศก.ฐานราก 3.5 หมื่นลบ. จะกระตุ้นจีดีพีปีนี้ 0.15% โดยจะเบิกจ่ายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ยันเร่งนำพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย เข้าสนช.เร็วที่สุด เพื่อลงนามสัตยาบันก่อนมิ.ย.นี้ ปีนี้ยังไม่มีเหตุกู้เงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ยังมีเงินในประเทศเพียงพอ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐฯ ว่า จากที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติโดยจัดสรรงบประมาณ 35,000 ล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,556 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะเบิกจ่ายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
สำหรับ เงินกองทุนดังกล่าว เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การดำเนินในโครงการนั้น จะไม่ซ้ำซ้อนกับเงินที่จัดสรรตำบลละ 5 ล้านบาทที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน สำหรับเบื้องต้นประเมินว่า เมื่อเม็ดเงินกระจายเข้าสู่กระบวนการลงทุนนั้น จะส่งผลให้ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.15%
“ให้แต่ละชุมชน หรือ หมู่บ้านนั้น รีบเสนอโครงการเข้ามา หากเสนอมาก่อนก็ได้อนุมัติก่อน โดยหลักการเราไม่ได้คิดถึงการรั่วไหล เพราะมีระเบียบมีกรรมการหมู่บ้าน คอยตรวจสอบและพิจารณาอยู่แล้ว สำหรับเงินก้อนดังกล่าวจะจ่ายผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน โดยหากเป็นโครงการที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น จะสามารถอนุมัติได้รวดเร็ว แต่หากนอกเหนือจากที่กล่าวไว้นั้นจะต้องมีการพิจารณาจาสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน”นายกฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้ อนุมัติวงเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB ในส่วนของประเทศไทยตามสัดส่วนที่ได้รับตามขนาดเศรษฐกิจ หรือคิดเป็น 1.4275% ของเงินทุนจดทะเบียนของ AIIB รวมถึงครม.ยังได้เห็นชอบให้นำร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย พ.ศ.... พร้อมด้วยข้อบทของความตกลงว่าด้วยธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย โดยให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัตแห่งชาติ พิจารณา ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณาต่อไป โดยจะนำเข้าสนช.เร็วที่สุด และอยากให้มีการให้สัตยาบันได้ก่อนมิถุนายน 2559
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเงินทุนทั้งหมดของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย รวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านดอลลาร์ โดยเงินที่ไทยลงใส่ไปนั้นมีระยะเวลา 5 ปี โดยความคิดริเริ่มการจัดตั้งธนาคารดังกล่าวนั้น เพื่อเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศในระดับพยุหภาคี ที่เน้นการลงทุนโรงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย โดยเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2556 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมหารือในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง ร่วมกับประเทศอื่นๆทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ ขณะนี้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว 30 ประเทศ โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาได้ทำการเปิดธนาคารอย่างเป็นทางการแล้วที่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
“คาดดอกเบี้ยคงผ่อนปรน แต่สำหรับไทยนั้นขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว เนื่องจากเงินในประเทศยังมีเพียงพอต่อการลงทุน ส่วนในปีหน้านั้นต้องกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยหรือไม่นั้น มองว่าต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบ สำหรับการกู้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นสกุลดอลลาร์เป็นหลัก และหยวน ส่วนสกุลอื่นๆนั้น จะมีการประชุมและพิจารณาต่อไป”นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับ การแบ่งชำระนั้นแบ่งการชำระออกเป็น 5 งวด ในระหว่างปี 59-63 โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉลี่ยปีละ 2,112.78 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเปิดดำเนินการธนาคารดังกล่าวนั้น เป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และในสาขาการผลิตอื่่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยโดยภูมิภาค เอเชียยังมีความต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน คมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งการดำเนินการของธนาคารจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยในอันที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาค การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
สศค.คาดจีดีพีปี 58 โต 2.9% ดีกว่าประมาณการเดิมที่ 2.8%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง สศค.คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 58 ที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ 2.9% สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 2.8% โดยมีแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการอัดฉีดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน 60,000 ล้านบาท และโครงการตำบละ 5 ล้านบาท โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
“ส่วนก่อนหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ประเมินจีดีพีทั้งไตรมาส 1-3 เติบโตเฉลี่ย 2.9% และคาดว่าเฉพาะไตรมาส 4 คงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ผ่านมา ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 2.9% แต่ทั้งนี้จะมีการประกาศตัวเลขในปีที่ผ่านมาและปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 28 มกราคม 2559”นายกฤษฎา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สศค.มั่นใจโครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากฯ ดัน GDP ปีนี้เพิ่ม 0.15%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 35,000 ล้านบาทไปแล้วเมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) เชื่อว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีทั้งหมด 79,556 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยหลังจากเม็ดเงินโครงการดังกล่าวลงไปในแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนแล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 59 ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 0.15% จากล่าสุดที่ สศค.ประมาณการไว้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8%
สำหรับ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำในชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งการใช้เพื่อการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่ให้ชุมชนดีขึ้น
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชนหรือแต่ละหมู่บ้านในโครงการดังกล่าวนี้จะไม่เกิดปัญหาเม็ดเงินรั่วไหล เนื่องจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้มีการวางกฎระเบียบและแนวทางการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินให้แต่ละกองทุนในแต่ละหมู่บ้านอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันในจำนวนหมู่บ้านและชุมชนทั้งหมดกว่า 7.9 หมื่นหมู่บ้านนั้น ก็มีหมู่บ้านที่มีการจัดอันดับไว้เป็นระดับ A และระดับ B มากถึงเกือบ 6 หมื่นหมู่บ้าน ซึ่งมีผลงานในการบริหารจัดงานเงินในกองทุนที่ได้รับไปก่อนหน้านี้อย่างเป็นระบบและมีการนำเงินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
อินโฟเควสท์