- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 05 January 2016 15:09
- Hits: 2599
คลังยันไม่นิรโทษกรรมคนผิด! จ่อชง ครม.ไฟเขียวปรับภาษีเงินได้บุคคล
'สมคิด' จี้ คลังปรับโครงสร้างภาษี เน้นลดเหลื่อมล้ำ ดันเอสเอ็มอีโต เพิ่มขีดแข่งขัน และเกิดยั่งยืนด้านการคลัง พร้อมทำงบประมาณสมดุลในอีก 7 ปี ด้าน'กรมสรรพากร' ยันไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ไม่ใช่นิรโทษกรรม ใครทำผิดต้องรับโทษ ส่วนคนทำดีได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เตรียมชง ครม. ปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไตรมาสแรกปีนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมกระทรวงการคลัง ว่า ได้หารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไป และการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 59 ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังทำงานได้ดี ทั้งการดูแลเศรษฐกิจประเทศ และการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นฟื้นตัวขึ้นพอสมควร นอกจากนี้ ยังได้ให้กระทรวงการคลังสร้างงบประมาณสมดุล ซึ่งอยากให้เกิดขึ้นใน 7 ปี “สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างภาษี ได้สั่งให้พิจารณา 4 ด้าน คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหายากจน 2.ให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตต่อไปได้ 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 4.เกิดความยั่งยืนด้านการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องทำตัวเลขว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลต่อรายได้ประเทศอย่างไร ภายใต้กรอบการทำงบประมาณสมดุลใน 7 ปี”
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการมีผลบังคับใช้ของพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ว่า ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมภาษีให้กับผู้กระทำความผิดทางภาษีแต่อย่างใด เพราะผู้ที่กระทำความผิดทางภาษี เช่น ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เป็นเท็จ การใช้ใบกำกับภาษีปลอม การยื่นภาษีไม่ถูกต้องและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ โดยมีหมายเรียกของ กรมฯประมาณ 5,000 รายนั้น จะยังคงอยู่ในกระบวนการของกฎหมายต่อไป
ส่วนนิติบุคคล 340,000 ราย คิดเป็น 81% ของนิติบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ คาดว่า จะมีประมาณ 30% ที่จะขึ้นทะเบียนใช้บัญชีเล่มเดียวกับกรมฯ ภายในเวลาที่กำหนดคือ วันที่ 15 ม.ค.-15 มี.ค.59 เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว กรมฯจะไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง สำหรับบริษัทนิติบุคคลขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีปี 58 จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชี คือ 1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 59 หรือคิดภาษี 0% และ 2.ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 60 โดยหากมีกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ 0% และหากมีกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการลดอัตราภาษีเหลือ 10%
นายประสงค์ กล่าวว่า หากนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ยื่นแวตเป็นเท็จ ใช้ใบกำกับภาษีปลอม เป็นต้น จะถูกเพิกถอนจากการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และให้ถือว่าบริษัทฯ นั้นไม่เคยได้รับสิทธิใดๆ ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่สำคัญ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังกำหนดว่า สถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้แก่นิติบุคคลต้องใช้หลักฐานการเสียภาษีเงินได้ของกรมสรรพากรเป็นเอกสารสำคัญในการพิจารณาปล่อยกู้ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป
“การทำบัญชีเล่มเดียว รวมทั้งการยกเว้น และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี จะทำให้ผู้ประกอบการทำบัญชีและงบการเงินสอดคล้องกับสภาพแท้จริงของกิจการ คาดจะได้รับการตอบรับอย่างดีหากเสียภาษีครบ อัตราภาษีในอนาคตน่าจะลดลง เพราะมีผู้ประกอบการอยู่ในฐานภาษีมากขึ้น เช่น รัฐบาลต้องการเงิน 100 บาทเพื่อพัฒนาประเทศ แต่มีผู้เสียภาษี 5 คน ต้องจ่ายเงินภาษีคนละ 20 บาท แต่ถ้าผู้เสียภาษีเพิ่มเป็น 20 คน เท่ากับเสียภาษีคนละ 5 บาท ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้”
ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นายประสงค์ กล่าวว่า จะเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไตรมาสแรกปี 59 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 60 ที่จะยื่นแบบและเสียภาษีในปี 61 “ยังไม่ได้ข้อสรุปการปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ทุกคนจะมีความสุข โดยเฉพาะการปรับอัตราและการหักค่าลดหย่อน ที่จะไม่มีใครเสีย มีแต่ได้ นอกจากนี้ ยังจะขยับรายได้ของผู้ที่มีเงินได้จากปัจจุบันเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี อาจเพิ่มขึ้นให้มากกว่านี้ แต่คงไม่ถึง 30,000 บาท”
สำหรับ การเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การเก็บแวตจากการนำเข้าน้ำมันและสินค้ายังต่ำกว่าเป้ามาก เพราะราคาน้ำมันต่ำกว่าประมาณการมาก ส่งผลให้แวตจากน้ำมันในปีนี้หายไปกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้การเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากในอัตรา 15% ก็ลดลงไปมาก เพราะดอกเบี้ยในตลาดลดลง
ขณะที่มาตรการภาษีช็อปช่วยชาติลดหย่อนภาษี 15,000 บาทนั้น กรมฯจะสูญเสียรายได้ 5,000 ล้านบาท แต่คาดจะจัดเก็บแวตเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะจากการสำรวจยอดขายสินค้าในช่วงของมาตรการเพิ่มขึ้น 20-50%.
ที่มา : www.thairath.co.th
'สมคิด'ไม่หวั่นปฏิรูปภาษีทำรายได้รัฐฯลด มั่นใจดีต่อประเทศในระยะยาว ลั่นจะทำงบฯสมดุลภายใน 7 ปี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการพบปะหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และข้าราชการประจำกระทรวงว่า ในการหารือกันในวันนี้เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศทั่วไปว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรและในปีนี้จะดำเนินการอะไรบ้าง โดยยืนยันว่าสำหรับนโยบายการปฏิรูปภาษีที่ส่วนใหญ่เป็นการลดภาษีนั้นจะไม่อยากให้มองในส่วนของการทำให้รายได้ของรัฐหายไป แต่อยากให้มองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจ และเชื่อว่าในระยะต่อไปก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ดำเนินการมานั้นทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นมาบ้างพอสมควร”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายในการทำงานนั้น ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือ 1.ยังเดินหน้าช่วยความยากจนลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม 2.ทำอย่างไรให้ธุรกิจเล็กๆสามารถยืนอยู่ได้ 3.เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 4.สร้างความยั่งยืนทางการคลัง
นอกจากนี้ นายสมคิดยังกล่าวถึงการสร้างงบประมาณสมดุลว่า จะดำเนินการให้ได้ภายใน 7 ปี โดยให้กระทรวงการคลังไปดูในส่วนของรายละเอียดว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สมคิดมอบแนวคิดคลังปรับโครงสร้างภาษีก 4 ด้าน-เร่งทำงบฯสมดุลใน 7 ปี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามงานและมอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงการคลังว่า ได้ประชุมร่วมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และข้าราชการกระทรวงรับดับสูง หารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไป รวมถึงการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 59 โดยได้ให้แนวคิดให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังทำงานได้ดี ทั้งการดูแลเศรษฐกิจประเทศและการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี จะเห็นได้จากภาพรวมความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวขึ้นพอสมควร
พร้อมกันนี้ได้ให้แนวคิดที่ให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการต่อ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างงบประมาณสมดุล ที่มองว่าอยากให้เกิดขึ้นภายใน 7 ปี รวมถึงให้กระทรวงการคลังดูแลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญคือการทำให้มีความมั่นคงทางด้านการคลัง
“การปรับโครงสร้างภาษีในปี 2559 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้มีขึ้นมีลง แต่การปรับทำให้ภาพรวมดีขึ้น ซึ่งจะมองแต่ระยะสั้นๆไม่ได้ ต้องมองระยะยาว"นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ แนวคิดการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสั่งการไปให้พิจารณา 4 ด้าน คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหายากจน 2.ให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตต่อไปได้ 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 4.ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะต้องไปทำตัวเลขมาว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลต่อรายได้ประเทศอย่างไร ภายใต้กรอบการทำงบประมาณสมดุลภายใน 7 ปี
อินโฟเควสท์
คลังยกเครื่องกม.ภาษี 46 ฉบับพ่วงช่วยเอสเอ็มอีเข้าตลาดหุ้น
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * คลังประกาศดันแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีถึงมือ "สมคิด" ต้นปีหน้า ชี้ยกเครื่องกฎหมายภาษี 46 ฉบับใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม พ่วงเสนอแผนพัฒนาตลาดทุนไทย
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในวันที่ 4 ม.ค.2559 ซึ่งจะครอบคลุมการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ จะรวมการจัดเก็บภาษีใหม่และการปรับปรุงภาษีเดิมให้มีประสิทธิ
ภาพมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายภาษี 46 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ทั้งอัตราการจัดเก็บ ประเภทภาษี และการบริหารการจัดเก็บภาษีโดยใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จะรวมถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการ แก้ไขใหม่ให้นายสมคิดพิจารณาด้วย ซึ่งยอมรับว่ามีการเปลี่ยน แปลงลักษณะการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะจะทำให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยหลังจากที่นายสมคิดพิจารณาแล้ว จะทยอยเสนอโครงสร้างภาษีทั้งระบบให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2559
"ในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอความคืบหน้าแผนการพัฒนาตลาดทุนไทยให้นายสมคิดพิจารณาด้วย โดยจะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาตลาดทุนไทยให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า ดังนั้นหลังจากนี้ไปตลาดทุนไทยจะต้องให้สิทธิประ โยชน์หรือมีมาตรการจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าตลาดทุนมากขึ้น" นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวระบุว่า แนวทางการปรับโครง สร้างภาษีในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการปรับช่วงเงินได้สุทธิแต่ละขั้นใหม่ จากเดิมกำหนดช่วงเงินได้สุทธิไว้ 7 ขั้น ปรับลดเหลือ 6 ขั้น เพดานอัตราภาษีสูงสุดจากเดิมอยู่ที่ 35% ลดเหลือสูงสุด 30% และจะขยับยกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเป็น 2-2.4 แสนบาทต่อปี จากปัจจุบันผู้มีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี คือไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี.
คลังชง'สมคิด'เคาะแพ็กเกจปฏิรูประบบภาษีอัดมาตรการฟื้นลงทุนปี'59
แนวหน้า : คลังประเดิมต้น ปี’59 เตรียมชง 'สมคิด'เคาะแพ็กเกจปฏิรูปภาษี จ่อรื้อกฎหมายเก่า-ใหม่รวม 46 ฉบับ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม พร้อมออกมาตรการจูงใจเอกชน-ต่างชาติลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากระทรวงการคลังเตรียมเสนอแพ็กเกจปฏิรูประบบภาษี ทั้งด้านโครงสร้าง การบริหารจัดเก็บ และจะเสนอภาษีตัวใหม่ ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พิจารณาในวันที่ 4 มกราคม 2559 ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการปฏิรูปภาษีจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายของ 3 กรมภาษี ทั้งกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ซึ่งมีทั้งกฎหมายเก่าและเตรียมออกกฎหมายใหม่รวมทั้งหมด 46 ฉบับ ให้มีความทันสมัย เป็นสากล เกิดความเท่าเทียม และเป็นธรรมโดยจะเสนอในปี 2559
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถือเป็นภาษีใหม่ที่จะออกมา โดยอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงผ่อนปรนเงื่อนไขของกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และจะเสนอให้ครม.เห็นชอบภายในปี 2559 นี้เช่นกัน โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้รายได้ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และเป็นการประหยัดงบประมาณในการอุดหนุนเงินท้องถิ่น รัฐบาลจะได้นำไปใช้ประโยชน์พัฒนาส่วนอื่นต่อไป
นอกจากนี้ จะเสนอแผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) ให้ทำตามพันธกิจของแต่ละแห่งให้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงจะเสนอแผนพัฒนาตลาดทุน เพื่อมาดูแลกลุ่มเงินทุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้มีทางเลือกมากขึ้นและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินผ่านการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยังให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่าย
นายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทำแผนการเงินการคลังเพื่อสังคม ตามหลักประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น มีหลักประกันดูแลตัวเองยามชรา มีสวัสดิการ และมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและรัฐบาล รวมถึงจะมีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบบูรณาการอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ในปี 2559 กระทรวงการคลังยังต้องคิดแผนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านมาตรการการเงินการคลังทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น โครงการลงทุนคมนาคมต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานกฎหมาย ต้องเป็นสากลมากขึ้น ด้านโครงสร้างพื้นฐานการเงินเช่นสถาบันการเงิน ตลาดทุน และโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการบริการภาครัฐ
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากแผนปฏิรูปทั้งภาษี ตลาดทุน และแผนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแล้ว ในปี 2559 จะยังสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันด้านลงทุน โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งสิทธิประโยชน์เร่งรัดการลงทุนในปี 2559 เช่น การหักค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่า ในปี 2559 สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ได้แก่ เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ และอาคาร มาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนในการจัดเตรียมและพิจารณาโครงการ PPP จากเดิมที่ใช้เวลา 25 เดือน ให้เหลือ 9 เดือน
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตของไทย (New Growth Engine) สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน และดอกเบี้ยเงินกู้ ผ่านกองทุน Competitiveness Enhancement Fund ขนาด 10,000 ล้านบาท การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยยกเว้นภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้นำมูลค่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบทั้งจำนวนมาหักค่าเสื่อมราคาได้ สำหรับการนำเข้ายานพาหนะต้นแบบเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา และการหักค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาได้ 3 เท่า ในช่วงปี 2558-2562 รวมถึงกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ 100,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนในอาเซียนทั้งการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% สำหรับรายได้จากการให้บริการและค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในไทย และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเหลือ 15% และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) อาทิ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% สำหรับรายได้จากสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษเป็นเวลา 10 ปี และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
“ชุดมาตรการนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ผ่านการลงทุนภาคเอกชน และการดึงดูดการลงทุนโดยตรงที่มีคุณภาพจากต่างประเทศจะช่วยเพิ่มระดับการลงทุนของประเทศไทยที่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่เพียง 24% ต่อจีดีพี และอยู่ในระดับต่ำมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ให้ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับการลงทุนของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นายสมชัย กล่าว