- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 15 December 2015 22:03
- Hits: 4194
คลังผวาราคาน้ำมันทรุด กดภาษีหดฉุดสินค้าโภคภัณฑ์ สั่งสศค.ทำแผนรับมือภัยแล้งลดวิกฤติเกษตรกร
แนวหน้า : รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จับตาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นพิเศษ เนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ผลิตน้ำมันโอเปก และผู้ผลิตนอกกลุ่มส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดต่ำลง เพราะจากการประกาศยกเลิกเพดานการผลิตจะมีผลกดดันให้ราคาน้ำมันลดต่ำลงต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอาจกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ปีงบประมาณ 2559 ในส่วนของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นำเข้าน้ำมันปรับตัวลดลงไปด้วย
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบได้ลดลงกว่า 60% นับตั้งแต่จุดสูงที่สุด เดือน มิ.ย. 2557 โดย สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2558 จะอยู่ที่ระดับ 53.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 57.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่จะทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้มอบหมาย ให้ สศค.เตรียมแผนที่จะรับมือปัญหาภัยแล้ง ปี 2559 ทั้งดำเนินการผ่านนโยบายของรัฐบาล ด้วยการเข้าไปดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก รายได้ที่ลดลง โดยเฉพาะชาวนา เนื่องจากไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้เต็มที่จากปัญหาน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ และการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทั้งธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะมีทั้งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น และการชะลอหนี้ เป็นต้น
"ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อย กว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกร และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้"
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2559 จะมีแนวโน้ม ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่ เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้