- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 01 December 2015 21:57
- Hits: 2204
จ่อคิวปรับลดภาษีเงินได้ คลังอุ้มมนุษย์เงินเดือนลดเหลื่อมล้ำ
สศค.ชงปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาหลบเลี่ยงหนีภาษี หลังคลังไฟเขียวลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% พร้อมเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนตัว ส่วนอัตราการยกเว้นภาษีเงินได้ 1.5 แสนบาทแรกยังคงไว้ที่เดิม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางภาษีได้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความแตกต่างกันสูงมาก กล่าวคือกรณีนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ตามนิยามของกรมสรรพากร เสียอัตราภาษีเพียง 10% (กรณีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท) ขณะที่ภาษีเงินได้ของนิติบุคคลเสียในอัตรา 20% และที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35%
“ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีการจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจทำให้ผู้เสียภาษีเลือกวิธีการหลบเลี่ยง โดยจดทะเบียนในฐานะนิติบุคคล เพื่อให้เสียภาษีเงินได้ต่ำลง ซึ่งแม้ว่า สศค.จะมองว่าการที่ผู้เสียภาษีเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลน่าจะเป็นผลดี เพราะทำให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่คำถามคือ ทำไมต้องสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในระบบภาษี”
ทั้งนี้ อัตราของเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ กรณีบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษี รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทแรก เมื่อรวมกับสามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ 60,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 30,000 บาท รวมเป็น 240,000 บาท หมายความว่า คนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท จะไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นเอสเอ็มอี จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนที่เกินกว่าเสียภาษีในอัตรา 15% แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 20%
นายกฤษฎากล่าวว่า ในส่วนของอัตราการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ 150,000 บาท แรก สศค.อาจไม่เข้าไปปรับให้สูงขึ้น แต่อาจพิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่นำมาหักออกจากเงินได้ ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งอัตรานี้กำหนดมานานแล้ว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพก็เปลี่ยนไปมากจากในอดีต
นอกจากนี้ สศค.กำลังคำนวณว่า รายได้ในระดับใดที่ถือว่าเป็นรายได้ที่พอยังชีพของคน และยังไม่ถึงระดับที่ควรมีภาระภาษี ที่ปัจจุบันคนมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีภาระภาษี หากมีการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลให้สูงขึ้น เช่น เป็น 100,000 บาทต่อคนต่อปี ก็จะทำให้รายได้ได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 บาท (150,000 บาทแรกที่ยกเว้น บวกด้วยค่าใช้จ่าย 100,000 บาท บวกด้วยค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท) ก็เท่ากับขยับรายได้ของมนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้ขั้นต่ำ ต่อเดือน ที่ไม่มีภาระภาษี เป็นประมาณ 23,000 บาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสรรพากรเมื่อปี 2556 พบว่า จำนวนผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.49 ล้านแบบ ในจำนวนนี้มีแบบแสดงรายการภาษีที่มีภาระภาษีเพียง 3.63 ล้านแบบ คิดเป็น 34.65% ทั้งนี้เมื่อแยกตามช่วงเงินได้ พบว่ามีผู้ยื่นแบบที่อยู่ในช่วงเงินได้ 150,000 บาทแรกที่ได้รับการยกเว้นภาษี เป็นจำนวน 6.53 ล้านราย ส่วนช่วงเงินได้ตั้งแต่ 150,001 ถึง 300,000 บาท เป็นช่วงเงินได้ที่มีจำนวนรายของคนเสียภาษีมากสุด คือ 1.63 ล้านราย ส่วนช่วงเงินได้ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป เป็นช่วงเงินได้ที่มีจำนวนรายน้อยสุด คือ 24,700 ราย แต่คิดเป็นเม็ดเงินสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จากตัวเลขในปี 2557 พบว่าจำนวนผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล มีจำนวน 501,000 ราย ในจำนวนนี้มีนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้ 310,000 ราย คิดเป็น 62.1%.
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 30 Nov 2015 - 05:30