- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 28 November 2015 17:29
- Hits: 3678
สศค.มั่นใจ GDP Q4/58 โตดีสุดในรอบปี มองศก.เริ่มฟื้นหนุนปี 59 โต 3.8%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้ จะสามารถเติบโตได้ดีที่สุดในรอบปี โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 2.9% เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานหลายเรื่องที่เข้ามาช่วยเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องงบลงทุนในปีงบประมาณ 2559 ที่สูงถึง 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ตำบลแห่งละ 5 ล้านบาท การเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท และการเร่งรัดใช้จ่ายงบฝึกอบรมของส่วนราชการ ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยเชื่อว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ไทยในปีนี้ จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2.8% ขณะที่คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 5.4%
"ไตรมาส 4 จะไม่เห็นภาพที่เลวร้ายไปจากเดิมแน่นอน เพราะมีปัจจัยเข้ามาสนับสนุนหลายอย่าง ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปได้ตามที่วางแผนไว้ จะทำให้อย่างน้อยๆ ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าที่คาดการณ์คือ 2.8% หรือมีลุ้นอาจขยายตัวได้ถึง 3% ขณะที่ภาคการส่งออกคงไม่ลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 5.4% อย่างแน่นอน" นายกฤษฎา กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จากเม็ดเงินต่าง ๆ ที่ภาครัฐอัดฉีดลงไปจะเริ่มเบิกจ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกแม้จะยังอยู่ในช่วงเปราะบางแต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าในปี 2559 GDP ของไทยจะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3.8%
สศค. เผยเศรษฐกิจต.ค.มีสัญญาณเริ่มฟื้นผลจากนโยบายกระตุ้นการลงทุน-ส่งออกยังหดตัว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ต.ค.58 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และบทบาทนโยบายการคลังผ่านการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ต.ค.58 มีปัจจัยบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 62.2 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลได้มีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวได้ที่ 4.8% ต่อปี อย่างไรก็ตามภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่กลับมาหดตัว -4.1% ต่อปี โดยมีผลมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ซึ่งหดตัวต่อเนื่องที่ -15.3% ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัว -6.5% ต่อปี จากการหดตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นหลัก จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปริมาณอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซาทำให้กำลังซื้อของประชาชนชะลอลง
ด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือน ต.ค.58 มีสัญญาณทรงตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวชะลอลงที่ -4.6% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวได้ 0.2% ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ -0.3% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ -6.5% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.4% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าพิเศษ(เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่าหดตัว -2.7% ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือน ต.ค.58 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูงและดุลงบประมาณที่ขาดดุล ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมของรัฐบาลในเดือน ต.ค.58 มีจำนวน 374.2 พันล้านบาท ขยายตัว 1.8% ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 359.6 พันล้านบาท ขยายตัว 4.3% ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 336.1 พันล้านบาท ขยายตัว 1.8% ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 23.5 พันล้านบาท ขยายตัว 58.7% ต่อปี
สำหรับ การจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค.58 ได้จำนวน 165.3 พันล้านบาท หดตัว -4.8% ต่อปี ทั้งนี้ ดุลงบประมาณในเดือน ต.ค.58 ขาดดุลจำนวน -218.1 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือน ต.ค.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -8.1% ต่อปี จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเป็นการหดตัวในทุกตลาดส่งออก ยกเว้นฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ที่ยังสามารถขยายตัวได้
สำหรับ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ต.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 84.7 จากการที่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมมีทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงท้ายปีผู้ประกอบการต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมทั้งได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับ ภาคการท่องเที่ยว สะท้อนได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามา ในประเทศไทย ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.0% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลสามารถขยายตัวได้ 1.9% ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในรอบ 2 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อเดือน ส.ค.58 ลดลง
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค.58 ยังคงหดตัวที่ -4.8% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าสามารถขยายตัวได้ 5.4% ต่อเดือน โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตมันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่ขยายตัวได้ดี กอปรกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่หดตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.5858 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมหรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวอยู่ที่ -0.8% ต่อปี เป็นผลมาจากการการหดตัวของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.0% ต่อปี สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ระดับ 43.3% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60%
สำหรับ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ต.ค.58 อยู่ในระดับสูงที่ 158.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า
อินโฟเควสท์