- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 25 November 2015 22:56
- Hits: 4383
คลังเปิดช่องธปท.คุมแบงก์รัฐออมสินอ่วมหนี้เน่าครูจ่อคอหอย
แนวหน้า : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ได้เสนอการแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน มาตรา 120 เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้เต็มที่เหมือนกับกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ โดยเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เห็นชอบแล้ว โดยการแก้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีหน้า ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้โอนการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปให้ ธปท. กำกับดูแลตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เพราะต้องการให้ทำงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองดำเนินการตามนโยบายมาตรการจนเกิดความเสียหาย เหมือนโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของ ธปท. ที่ผ่านมายังมีปัญหาทำได้ไม่เต็มที่ เพราะยังติดปัญหากฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจในแต่ละแห่ง เช่น ในเรื่องของการเปลี่ยนตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหาร ให้เป็นอำนาจของ รมว.คลัง หรือ ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ต่อไปหลังการแก้ไขกฎหมายธุรกิจสถาบัน การเงินก็จะให้เป็นอำนาจของ ธปท. ทั้งหมด
"การแก้กฎหมายมาตรา 120 จะให้อำนาจ ธปท. เต็มที่ทำได้ทุกอย่าง โดยเขียนไว้ชัดเจนหากกฎหมายจัดตั้งขัดกับกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน ก็ให้ ธปท. มีอำนาจตามกฎหมายธุรกิจสถาบัน การเงิน จะทำให้ ธปท. เข้าไปดูการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการและ ผู้บริหารของสถาบันการเงินทั้งหมด" นายกฤษฎา กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังกฎหมาย มีผลบังคับใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะได้รับกระทบมากที่สุด คือ ธนาคารออมสิน เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหนี้เสียจากครู ที่ตอนนี้มีหนี้เสียจำนวน 2,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่จะตกชั้นเป็นหนี้เสียในปีนี้อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท และหากการแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จปีหน้านี้เสียครูจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้เสียครูของธนาคารออมสินไม่ได้ง่าย และที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้ฝ่ายบริหารของธนาคารเร่งแก้ไขมานานแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่าจะได้ผลหรือไม่
ส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็เป็นธนาคารอีก 2 แห่ง ที่ถูก ธปท. กำกับดูแลเข้มข้นเนื่องจากมีหนี้เสียจำนวนมากรวมกันถึง 8-9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารเข้าไปดูแลจะถูกตรวจสอบจาก ธปท. อย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เข้าไปสร้าง ความเสียหายให้กับธนาคาร
คลังสั่งแบงก์รัฐแยกบัญชี 3 บัญชี-ดูแล NPL ไม่มุ่งแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า เป็นการติดตามผลการดำเนินงานและหารือหลักการทำงานในระยะต่อไปของแบงก์รัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของแต่ละธนาคาร รวมทั้งเติมเต็มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนด้วย โดยไม่ต้องการให้มุ่งแค่การทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เร่งประสานกับแบงก์รัฐทุกแห่งในการเร่งแก้ไขกฎหมายของแต่ละธนาคารในส่วนที่จำเป็น หลังจากที่การดำเนินงานเดินหน้าไปช้ามาก โดยการแก้กฎหมายครั้งนี้เพื่อปลดล็อคและเพิ่มบทบาทในการทำงานของแบงก์รัฐให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น เช่น บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.) และธนาคารออมสิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีบัญชีหน้าได้มอบหมายให้ทุกแบงก์รัฐ เสนอคณะกรรมการธนาคารแต่ละแห่งให้มีการแยกบัญชีผลการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บัญชีภาพรวม บัญชีโครงการตามนโยบายรัฐ (PSA) และบัญชีผลการดำเนินงานปกติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางบัญชีลง รวมถึงให้ทุกแบงก์รัฐเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้ระบบ E-Payment ในปีหน้าด้วย ไปจนถึงการเพิ่มความใส่ใจในการยกระบบสถาบันการเงินชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
"ฐานะทางการเงินของแบงก์รัฐทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่มีบางแห่งที่ต้องเร่งดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู ส่วนแห่งไหนที่แข็งแกร่งแล้วก็ให้ทำงานตามบทบาทของตัวเอง แต่ย้ำว่าต้องไม่ลงไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่เข้าไปรองรับในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้...ต้องดูแลเรื่อง NPL เพื่อให้สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
พร้อมระบุว่า อาจพิจารณาให้ธนาคารออมสินเข้ามาเป็นพี่ใหญ่ในการดูแลสภาพคล่องของแบงก์รัฐแห่งอื่นๆ ที่มีปัญหา รวมถึงให้เร่งดำเนินการในการดูแลปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่มาก โดยอาจให้เข้ามาดูเรื่องกลไกทางการเงินเพื่อเติมเต็มการเข้าถึงแหล่งเงินของรายย่อย ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงินด้วย
สำหรับ ในส่วนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim Bank) นั้น ได้มอบนโยบายให้มีการเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนผู้นำเข้าและส่งออกมากขึ้น เช่น การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
อินโฟเควสท์