- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 25 November 2015 22:53
- Hits: 4368
รัฐส่งรายได้เข้าคลัง 1.5 แสนล.ฐานะการคลังเดือนแรกปีงบฯ 59 ลดลง 6%
บ้านเมือง : รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังเดือนแรกปีงบประมาณ 59 กว่า 156,000 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 6 สาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มและการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะที่สภาพัฒน์ เผยในไตรมาส 3 การจ้างงานภาคเกษตรลดลง หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ผิดนัดชำระเพิ่ม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดปีงบประมาณ 2559 เดือนตุลาคม 2558 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 156,085 ล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีทั้งสิ้น 374,201 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 99,094 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีทั้งสิ้น 295,880 ล้านบาท
"การเบิกจ่ายงบประมาณระดับสูงตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงต้นปีงบประมาณของรัฐบาล จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง" นายกฤษฎา กล่าว
ในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสด 229,396 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 218,116 ล้านบาท และเป็นเงินนอกงบประมาณขาดดุล 11,280 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวน 295,880 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 156,085 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 10,019 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเหลื่อมไปในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 374,201 ล้านบาท สูงกว่าเดือน
เดียวกันปีที่แล้ว 6,603 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.8) ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 336,077 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 1.8 และรายจ่ายลงทุน 23,531 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 58.7 และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน 14,593 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 36.0
สำหรับ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 52,759 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 39,146 ล้านบาท และเงินอุดหนุนสำนักงานประกันสังคม 25,073 ล้านบาท
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 58 ระบุว่า การมีงานทำลดลงร้อยละ 0.2 เนื่องจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับการผลิตในภาคเกษตรที่ลดลง ทั้งนี้ ภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเวลาทำการเพาะปลูกเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ทำให้แรงงานเกษตรจำนวน 80,064 คน เป็นแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 สำหรับการจ้างงานนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.84 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย (ทุกสถานภาพ) 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3 ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4/58
สำหรับ หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงแต่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนมีรายได้ 27,545 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และรายจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 21,818 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เท่ากับร้อยละ 79.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 75.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่ารายจ่ายทำให้รายได้เหลือจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 5,727 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบกับเงินเหลือจ่ายของครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกปี 2556 ซึ่งเท่ากับ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 163,276 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.2% ชะลอตัวลงสอดคล้องกับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่บุคคลธรรมดากู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่บ่งชี้ว่าหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองของปี 2558 หนี้สินครัวเรือนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินมีมูลค่าเท่ากับ 10,714,318 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ของ GDP
คลัง เผยต.ค.58 จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 1.2 พันลบ.
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.58 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 165,304 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,212 ล้านบาท หรือ 0.7% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 8,397 ล้านบาท หรือ 4.8%
"รัฐบาลจัดเก็บรายได้เดือนตุลาคม 2558 ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย โดยการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเบียร์ นอกจากนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนถึงการบริโภคในประเทศที่ยังคงมีการขยายตัวอยู่" นายกฤษฎา กล่าว
โดยผลการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าเป้าหมาย 5,177 ล้านบาท หรือ 3.2% สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษียาสูบที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 4,768 ล้านบาท หรือ 68.7% เนื่องจากการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน งวดที่ 1 จำนวน 4,324 ล้านบาท
สำหรับ ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 110,846 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,761 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,131 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,068 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 1,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.4) นอกจากนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,271 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.8) เป็นผลจากภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาคเอกชนจัดเก็บได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 38,454 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,021 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 36.7) เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาถูกเพิ่มขึ้น และภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 857 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 107.5) เป็นผลจากการคงอัตราภาษีน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 4.25 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 547 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.2)
3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 9,499 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 801 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.8) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 772 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4)
4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 19,993 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,568 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 45.9) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำส่งรายได้บางส่วนในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง และการไฟฟ้านครหลวง
5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 11,710 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,768 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.4) เนื่องจากการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 118 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 55 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.8 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.2) เนื่องจากรายได้ที่ราชพัสดุจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 21,600 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,816 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 18,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,200 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.4 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 3,600 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 384 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9
7. อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 798 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ
8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 1,500 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8
9. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 1,300 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6
อินโฟเควสท์
ฐานะการคลังเดือนแรกปีงบ 59 รัฐนำส่งรายได้ 1.5 แสนลบ. เบิกจ่ายสูง 3.7 แสนลบ.
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำปีงบประมาณ 2559 เดือนตุลาคม 2558 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 156,085 ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 374,201 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 99,094 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 295,880 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 229,396 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 218,116 ล้านบาท และเป็นเงินนอกงบประมาณขาดดุล 11,280 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวน 295,880 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 156,085 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 10,019 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.0) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเหลื่อมไปในเดือนพฤศจิกายน
รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 374,201 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6,603 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.8) ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 336,077 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 1.8 และรายจ่ายลงทุน 23,531 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 58.7 และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 14,593 ล้านบาท ต่ำกว่ำเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 36.0
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 52,759 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 39,146 ล้านบาท และเงินอุดหนุนสำนักงานประกันสังคม 25,073 ล้านบาท
"การเบิกจ่ายงบประมาณในระดับสูงตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงต้นปีงบประมาณของรัฐบาล จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง" นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนตุลาคม 2558 ขาดดุล 218,116 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 11,280 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการจ่ายเงินให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจากกรณี Undo 16,024 ล้านบาท และส่วนเพิ่มจากการประมูลตั๋วเงินคลังสุทธิ 5,651 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 229,396 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 99,094 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 130,302 ล้านบาท
อินโฟเควสท์