- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 22 November 2015 19:02
- Hits: 3049
สมคิด ระบุถึงคิวเอกชนต้องลงทุนแล้ว-ลั่นรถไฟฟ้าทุกสายพร้อมประมูลใน H1/59
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา"Thailand Economic Outlook 2016" ว่า ปี 59 จะถือเป็นปีแห่งการลงทุนขนานใหญ่ของไทย หลังจากที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้เพื่อเอื้อต่อการลงทุนแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาที่เอกชนต้องลงทุนเพื่อช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า พร้อมระบุว่าในครึ่งปีแรกของปี 59 รถไฟฟ้าทุกสายจะต้องพร้อมประกวดราคา
"ปีหน้าถือเป็นปีแห่งการลงทุน รัฐบาลจัดทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว...ถ้าไม่ลงทุนปีหน้า จะเก็บเงินไว้ทำไม" นายสมคิด กล่าว
พร้อมระบุว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ประกอบกับหากไม่เกิดสถานการณ์รุนแรงกับเศรษฐกิจจีนก็เชื่อว่า GDP ของไทยในปีนี้อาจจะเติบโตได้มากกว่า 3%
นายสมคิด ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการคือการเพิ่มความความสามารถทางด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะมติ ครม.เมื่อวานนี้ที่จะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม 10 ด้าน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้รัฐบาลจะตั้งกองทุนขึ้นมาดูแล โดยจะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
ประกอบกับรัฐบาลจะมีการโรดโชว์ โดยตนเองจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อชี้แจงต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อดึงความสนใจญี่ปุ่นให้มาลงทุนในคลัสเตอร์มากยิ่งขึ้น
ส่วนการทำงานในด้านอื่นๆ ในเรื่องของการจัดเรทติ้งของประเทศ กระทรวงการคลังได้เร่งรัดเรื่อง Ease of Doing Business ซึ่งยังติดขัด 2 เรื่อง คือ เรื่องผลศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ ประเด็นการขออนุญาตเกี่ยวกับยาจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมั่นใจว่าหากรัฐบาลตั้งใจทำอย่างเต็มที่เรทติ้งของไทยในปีหน้าต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การทำงานด้านเชิงรุกในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจาทางด้านการค้า โดยจะเน้นการเจรจาในรูปแบบของ PPP ว่าสนใจจะเข้าร่วมลงทุนหรือไม่
"การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลจะเน้นการจัดทำงบประมาณตามยุทธศาสตร์แต่ละด้าน เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสามารถทางด้านการแข่งขัน การพัฒนาบุคลากร ความมั่นคง และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งหากจัดทำได้ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาวางเอาไว้ก็จะมีเม็ดเงินเข้ามามากขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดในเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ นายสมคิด กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินนโยบาย ซึ่งสัปดาห์หน้าจะครบรอบ 3 เดือนที่ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามา มาตรการที่ออกมาในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ให้กองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ยืนยันว่า นโยบายที่ออกมาทั้งหมดไม่ใช่โครงการประชานิยม ไม่ได้มีผลเรื่องการหาเสียง แต่เป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนเนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราซึมลึก มาตรการเหล่านี้จึงออกมาเพื่อความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจภายในมากขึ้น และผลที่ออกมาขณะนี้คือตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยจากที่สภาพัฒน์เคยประเมินว่าไตรมาส 3 จะโต 2.9% แต่ขณะนี้มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเม็ดเงินในส่วนของ 3 มาตรการจะเริ่มลงไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ และถ้าหากเศรษฐกิจจีนไม่มีปัญหา มองว่าปีนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ดีไม่ดีอาจจะทะลุเกิน 3% ด้วย
"แนวโน้มเศรษฐกิจที่ซึมลงไปนั้น ขณะนี้ความมั่นใจเริ่มกลับมา ดัชนีความเชื่อมั่นก็ดีขึ้นจากการประเมิน ไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.9% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.8% แม้เราจะผงกหัวขึ้นมาแต่ก็ไม่มากนัก ในยามที่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ก็ถือว่าดีขึ้นมาแล้ว ซึ่งเม็ดเงินทั้งหมดจะลงไปในช่วงเดือนพฤศิกายน-ธันวาคมนั้นถ้าไม่มีอะไรเหลือบ่กว่าแรง จีนไม่มีเหุตุการณ์ ดีไม่ดีปีนี้จะทะลุ 3%"
นอกจากนี้ เม็ดเงินอาจจะเข้าไปสู่ระบบต่างในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งรัฐบาลอยากจะให้เอกชนมีการลทุนเพิ่มมากขึ้นและหากจะให้เห็นจีดีพีเราเติบโตได้ 5-6% นั้น จะต้องทำให้การลงทุนในประเทศอย่างน้อย 10% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้คงจะหวังการส่งออกกลับไปโตถึง 10% คงเป็นไปไม่ได้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักพัฒนาศักยภาพในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างกลุ่ม Start up ใหม่ๆให้เกิดขึ้นในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และภาคเอกชนควรรู้จักที่จะเรียนรู้สิทธิประโยชน์มากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการต่างๆออกมาเต็มที่แล้ว เหลือแต่เอกชนว่าจะเข้ามาลงทุนเมื่อไหร่
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า จะมีการนำเม็ดเงินจากการประมูลคลื่น 4G ไปใช้ยกระดับฐานรากด้านการเกษตรและสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนจนทั่วประเทศ ซึ่งการกระจายเม็ดเงินสู่ฐานรากผ่านเงินกองทุนหมู่บ้าน มองว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิด Local Economy กระจายความเจริญและการพัฒนาในระดับท้องถิ่น และหากการประมูลคลื่น 900 MHz อีก 2 ใบๆละ 5 หมื่นล้านบาทจะมีเม็ดเงินนำมาออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเอาไว้อีก
"ไม่มีอะไรต้องกังวล รัฐบาลดูแลให้ เราไม่ประมาทและอาจจะมีก๊อก 2 เพราะหากประมูลคลื่น 900 MHz อีก 2 ใบได้ในราคาใบละ 5 หมื่นล้านบาทรวมกับที่ประมูลคลื่น 1800 ดูหน้าผมสิ ผมไม่ worry เลย" นายสมคิด กล่าว
ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหา 2 สิ่งไปพร้อมกัน ทั้งปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว ซึ่งปัญหาระยะยาวนั้นจะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จะต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, การป้องกันปัญหาการคอร์รัปชั่น, การปฏิรูประบบการเงิน และการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ
สำหรับ ปัญหาระยะสั้นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างนั้น ประกอบด้วย 1.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่มีความสมดุล เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปจนไม่ได้สนใจการพึ่งพาการลงทุนในประเทศ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจและการค้าโลกประสบปัญหาชะลอตัวจึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันในช่วงหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเป็นตัวช่วยต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีเพียงแค่การลงทุนก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และนำมาซึ่งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างรายได้ใหัแก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน
2.โครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรและภาคแรงงานไม่มีความสมดุล นำมาซึ่งปัญหาแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และ 3.ความไม่สมดุลในการเติบโตของหัวเมืองหลักกับท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเจริญในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถึง 44% มีการกระจุกตัวอยู่เฉพาะใน กทม. ปริมณฑล และภาคตะวันออกเท่านั้น
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนของประเทศที่จะต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ลดการแทรกแซงทางการเมือง และสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่อได้แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ขณะที่ภาคการเกษตรควรหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงานนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ศึกษาและให้ความสำคัญกับกติการการค้าโลกมากขึ้น และสุดท้ายในการปฏิรูประบบราชการนั้น การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการก็ควรต้องมีระบบที่ช่วยปกป้องผู้ที่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการมานั้นถือว่ามาถูกทาง และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคต่างจังหวัดที่ซบเซา แต่ทั้งนี้ปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขให้เห็นผลคือ ทรัพยากรทนุษย์ รวมถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยประสบปัญหาความไม่สมดุลด้านโครงสร้างที่พึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก โดยตลอด 18 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยติดอันดับ 1-5 ของโลกในสัดส่วน GDP จากภาคอุตสาหกรรม นำหน้าประเทศ จีน เกาหลีใต้ ที่เป็นประเทศพึ่งพิงอุตสาหกรรมสูง โดยในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา ไทยครองอันดับ 1 ของการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม สวนทางกับสัดส่วนภาคการบริการที่ประเทศอื่นมีการพัฒนาแต่ไทยยังคงอยู่อันดับเดิมและลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยยังกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการมากเกินไปจากกฏระเบียบต่างๆ ที่ห้ามคนต่างชาติเข้ามาแข่งขันในภาคบริการ แม้ในระยะหลังมีการผ่อนปรนก็ตาม
นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีความผันผวนหลายด้าน โดยจะต้องเตรียมรับมือจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เตรียมพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินบาท รวมถึงต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจจีนด้วย
สมคิด มอบนโยบายหลัก ตลท.สนับสนุนการพัฒนาประเทศ,เร่งเชื่อมโยงอาเซียน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)วางภารกิจหลักให้ตลาดทุนสนับสนุนการพัฒนาประเทศเป็นอันดับแรก อีกทั้งเพิ่มบทบาทตลาดตราสารหนี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการลงทุนเพิ่มขึ้น และให้ภาคธุรกิจใช้เป็นช่องทางระดมทุนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดึงธุรกิจ new engine เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ ธุรกิจประเภทอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยี อีกทั้งรเชื่อมโยงตลาดหุ้นสิงคโปร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป็นหลักในการพัฒนาตลาดอาเซียน และดึงธุรกิจใน CLMV เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
"ผมและรัฐมตรีคลังเข้ามาเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์ หลังจากไม่มานานพอสมควร เพื่อให้นโยบายบางอย่าง เพราะรัฐบาลจัดตั้งกรรมการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังเป็นประธาน และมาเพื่อให้แนวทางบางอย่างไปสานต่อ เพราะเห็นว่าตลาดทุนไทยผ่านช่วงเวลามาหลายข่วง ตั้งแต่เปิดตลาด และตลาดก็เติบโตขึ้น เผชิญวิกฤติการณ์หลายรอบ ขณะนี้ขนาดตลาดหุ้นใหญ่พอๆกับจีดีพี ในฐานะที่ประเทศก้าวสู่อีกจุดหนึ่งในการพัฒนาประเทศ สิ่งแรกคืออยากให้ตลาดทุนสามารถสะท้อนถึงบทบาทช่วยพัฒนาประเทศ รวมทั้งหนุนการเติบโตของประเทศ"นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ชักชวนบริษัทเอกชนไทยในกลุ่มธุรกิจใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ตเบส เทคโนโลยีเบส เข้ามาจดทุเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสนับนุนการเติบโตของประเทศในด้านเศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหาร กลุ่มเมดิคัล กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งเป็นบริษัทในต่างจังหวัดที่มีศักยภาพสูงอีกมาก จึงอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ออกไปสรรหาและเจาะตลาดให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาด mai โดยเฉพาะตลาด mai ที่มีหน้าที่พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้แข็งแรง
"ปัจจุบัน internet base และ technology base ในภูเก็ต เชียงใหม่ แห่เข้ามาติดต่อที่กระทรวงไอซีที ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีเงินทุนน้อย อยากจะสนใจเข้ามาระดมทุน ตรงนี้เป็นโอกาสให้ new Start up เข้าถึงแหล่งระดมทุน"นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวจะเป็นโจทย์ให้ตลาดหลักทรัพย์ไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโชน์กับบริษัทท้องถิ่น เช่น ชักชวนบริษัทจดทะเบียน(บจ.)นำเงินทุนส่วนกลางไปจัดตั้งกองทุนเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนส่วนร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอาจให้ บจ.ร่วมกันจัดตั้งกองทุน โดยสิทธิประโยชน์หรือมีโครงการที่ดีเข้ามาพัฒนาสนับสนุน หรืออาจหารือร่วมกับ 3 สมาคมที่ทำอยู่แล้ว โดยอยากให้บจ.ที่มีศักยภาพใน SET50 , SET100 มาร่วมกันนำร่องโครงการดังกล่าว เหมือนเป็น CSR ซึ่งจะทำให้มีกองทุนใช้จ่ายและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
"ตลาดหลักทรัพย์ต้องเข้ามาช่วยชนบท ลดความเหลื่อมล้ำ และดึงบริษัทในประเทศเข้ามาจดทเบียนในตลาดหุ้นไทยเพื่อที่จะช่วนให้ตลาดแข็งแรงและเติบโต ...ตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เก็งแต่เรื่องคอมมิชชั่นอย่างเดียว แต่ควรแป็นตลาดทุนเพื่อพัฒนาประเทศ ขึ้นสู่ S Curve ตัวใหม่"นายสมคิด กล่าว
นอกจากนั้น รองนายกรัฐมตรี ยังกล่าวว่า ต้องการให้ตลาดหุ้นไทยเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นอื่น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่มีศักกยภาพสูง และถ้าเทียบกันระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็มีศักยภาพใกล้เคียงกัน
อีกทั้ง สนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยเสาะแสวงหาบริษัทในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม CLMV ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพื่อจะได้มีสินค้าหลากหลาย กว้างขึ้น และใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันสนับสนุนให้บริษัทไทยไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งปัจจุบัน GDP กลุ่มประเทศ CLMV เติบโตสูงมาก หากมีการลงทุนในประเทศเหล่านี้ไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วย ยิ่งเมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะมีการเชื่อมโยงคมนาคม
"สิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยไปได้ไกล หรือผลักดันให้มีการเจรจาในระดับอาเซียนซัมมิทให้เกิดการ connect ระหว่างประเทศในกลุ่ม AEC"นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลาง AEC จากภูมิประเทศที่ได้เปรียบประเทศอื่น ก็น่าจะมีโอกาสทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงตลาดหุ้นใน AEC โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV หากเชื่อมโยงกันได้ก็จะช่วยทำให้ตลาดทุนไทยแข็งแรงและมีพลังมากขึ้นด้วย เบื้องต้นควรจะเริ่มจากการเชื่อมกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ก่อน
ส่วนรูปแบบการเชื่อมโยงนั้น ได้มอบหมายให้ ตลท.ไปศึกษา เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประทเศหนึ่ง เพื่อพัฒนาตลาดทุนทั้งสองแห่ง
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตลาดทุนไทยชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อกำหนดแผนงานในอนาคต กรรมการจะมาจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ตลท. ,คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังมี ประธานบริษัทจดทะเบียนเข้ามามีส่วนรวมสร้างแผนงานสำหรับตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนในอนาคต ซึ่งจะนำเสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า หรือปลาย พ.ย. นี้
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท.พร้อมจะพัฒนาตลาดทุนไทยตามนโยบาย S-Curve ของรัฐบาล เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน โดยในส่วนของการวางแผนพัฒนาตลาดทุน คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงแผนตลาดทุนไทยในอนาคตจะมีความชัดเจนมากขึ้นในรายละเอียดต่างๆ จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม และต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ ที่รัฐบาลวางไว้
ส่วนการเชื่อมโยงตลาดหุ้นกับสิงคโปร์ ทางตลท.ได้กำลังศึกษาอยู่ แต่ยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยเนื้อหอมในอาเซียน โดยที่ผ่านมาพูดคุยกับฑูตสิงคโปร์ แต่ขอเช็ครายะอียด นอกจากนี้ เรื่องเร่งด่วนคือการทำให้ตลาดหลักทรัพย์สนองตอบในวงเกว้าง ในเรื่องการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้มากกว่านี้
อินโฟเควสท์
'สมคิด' จี้ขับเคลื่อนตลาดหุ้น หนุน 10 กลุ่มเป้าหมายร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ
“สมคิด” มอบนโยบายตลาดหลักทรัพย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น แนะให้ดึงเงินกองทุนพัฒนาตลาดทุน มาตั้งกองทุนร่วมลงทุน เข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพ ก่อนผลักดันเข้าตลาด MAI พร้อมให้เร่งหาทางเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสิงคโปร์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมและมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และผู้บริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์ว่า ต้องการให้บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามทิศทางเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยต้องเพิ่มบทบาท และหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ให้กว้างและลึกมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นตลาดที่เป็นศูนย์กลาง
การซื้อขายแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอาหารชั้นสูง อุตสาหกรรมการแพทย์ และปิโตรเคมีขั้นสูง เป็นต้น จึงต้องการให้ตลาด หลักทรัพย์มุ่งส่งเสริมและชักชวนให้บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้มาระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (MAI) ที่มีบทบาทสูงมากในการ พัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้แข็งแกร่ง ต้องทำให้บริษัทเหล่านี้มาใช้เครื่องมือในตลาด ทุนได้โดยขณะนี้ มีบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็น “นักรบเศรษฐกิจใหม่” เช่น ธุรกิจด้านอินเตอร์เน็ต ดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีทุนน้อย จะเติบโตได้ ต้องมีกองทุนร่วมลงทุนเข้ามาร่วมทุนในช่วงเริ่มต้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ยกเว้นภาษีให้กับกองทุน
ร่วมลงทุนแล้ว ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์และตลาด MAI ต้องช่วยโปรโมตให้กองทุนร่วมลงทุนเกิดขึ้นได้ โดยตลาดหลักทรัพย์อาจแบ่งเงินจากกองทุนพัฒนาตลาดทุนส่วนหนึ่งมาตั้งกองทุนร่วมลงทุน โดยกำหนดกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่จะเข้าไปร่วมทุนที่ชัดเจน ก่อนที่จะพัฒนาจนสามารถนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาด MAI ได้
“ตลาดหลักทรัพย์ต้องทำหน้าที่และมีบทบาทที่มากกว่าเดิม ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องเป็นผู้นำในการส่งเสริมธุรกิจใหม่ที่เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ให้เติบโตควบคู่ไปกับการขยายตัวของตลาด ซึ่งที่ผ่านมาตลาด หลักทรัพย์มีการพัฒนาและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนเทียบเท่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ แต่ไม่ได้สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น ต่อไปนี้ตลาด หลักทรัพย์ต้องเน้นเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ และมีความลึกในการสรรหากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน”
นายสมคิดกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องการเห็นตลาดมีการเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีการพัฒนาไปมาก ดังนั้น ควรมีการร่วมมือกัน เช่น สามารถจดทะเบียนข้ามตลาดและซื้อขายข้ามตลาดระหว่างกันได้ โดยให้ไปหาทางเจรจากัน ว่าจะมีโอกาสทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะได้ประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย
นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ตลาดทุนไทยมีความเชื่อมโยงและเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ให้มาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพราะตลาดทุนในประเทศเหล่านี้ยังไม่แข็งแรงพอ ซึ่งนอกจากจะทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสินค้าที่หลากหลายและกว้างขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ด้วย รวมทั้งยังต้องการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะมีศักยภาพสูง ที่จะเติบโตในภูมิภาคนี้หลังเปิดเออีซี
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน เพื่อเข้ามากำหนดแผนพัฒนาตลาดทุนในอนาคต โดยคณะกรรมการ จะประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลาดทุน เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมี รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนจะร่วมกันกำหนดแผนและแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนที่สอดคล้องและเป็นในแนวทางเดียวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์พร้อมจะพัฒนาตลาดทุนไทยตามนโยบาย ที่รองนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ในทุกมิติ โดยแผนงานตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 ที่จะออกมา จะนำแนวทางดังกล่าวมาบรรจุไว้ด้วย คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะสามารถแถลงแผนได้ สำหรับแนวทางการใช้เงินกองทุนพัฒนาตลาดทุน มาตั้งกองทุนร่วมลงทุนเพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มีศักยภาพนั้น ก่อนที่จะผลักดันให้เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI จะต้องนำไปหารือและขอความเห็นชอบจากบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ก่อน.
- ที่มา : www.thairath.co.th