- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 31 October 2015 20:17
- Hits: 5600
สศค.ลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.8% ก่อนฟื้นมาขยายตัว 3.8%ในปี 59
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ 2.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.6 -3.1%) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% ขณะที่ภาคส่งออกปีนี้ยังหดตัว -5.4% และนำเข้าหดตัว -9.8%
ในปี 58 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้
นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูงคาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ -0.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -1.2% ถึง –0.7%) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การปรับลด GDP ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลของการปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ -5.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ -4% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น จีน
สำหรับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยประกาศออกมาตั้งแต่เดือนก.ย. ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนโครงการลงทุนขนาดเล็กนั้น มีผลช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งได้รวมไว้ในการปรับประมาณการ GDP ล่าสุดของปีนี้แล้ว
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเริ่มออกมาตั้งแต่ก.ย. และจะเร่งรัดให้เกิดขึ้นภายใน ธ.ค.58 นั้น มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 0.5% ซึ่งทำให้คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.8%” น.ส.กุลยา กล่าว
ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในปี 59 มาอยู่ที่ 3.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.3 – 4.3%) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ด้านการส่งออกบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.2% และ นำเข้า ขยายตัว 7.5%
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะอยู่ที่ 1.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.3% – 2.3%) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยแล้ง
น.ส.กุลยา กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 58 และการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 59 นั้น มาจากสมมติฐานหลักที่สำคัญ 7 ด้าน คือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 15 ประเทศในปีนี้ยังชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาค โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะเติบโตได้ 3.5% ส่วนปีหน้าเติบโตได้ 3.6%
2.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยพบว่าในปีนี้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวแปรสำคัญมาจากทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ เพราะจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงิน ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34.15 บาท/ดอลลาร์ ส่วนปีหน้าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ และปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภค
3.ราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งในปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเริ่มกลับสู่ขาลงอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมันลดลง โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนปีหน้าคาดว่ายังคงมีอุปทานน้ำมันค้างมาจากปีนี้ จึงไม่ทำให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากนัก ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 57.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
4.ดัชนีราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า โดยในปีนี้คาดว่า ดัชนี ราคาสินค้าส่งออกจะลดลง 2.3% ส่วนดัชนีราคาสินค้านำเข้าจะลดลง 9.8% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าดัชนีราคาสินค้าส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% และดัชนีราคาสินค้านำเข้าจะเพิ่มขึ้น 1.6%
5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากในปีนี้ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้สามารถคงดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับปัจจุบันได้ จึงคาดว่าสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ที่ระดับ 1.50% ขณะที่ปีหน้ามีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.75% จากแนวโน้มที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในต้นปีหน้าเช่นกันหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว
6.จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ 30.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.5% คิดเป็นรายได้เข้าประเทศ 1.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% ส่วนในปีหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 13.5% คิดเป็นรายได้เข้าประเทศ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 15.5%
7.รายจ่ายภาคสาธารณะ โดยมองว่าในปีนี้รายจ่ายลงทุนของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี โดยรายจ่ายลงทุนของภาครัฐในปีงบประมาณ 58 ขยายตัวถึง 36.1% ทั้งนี้รายจ่ายภาคสาธารณะในปีงบประมาณ 58 อยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท
อินโฟเควสท์
คลัง เคาะจีดีพีปี'58 ขยายตัวแค่ 2.8% การส่งออกติดลบ 5.4% เศรษฐกิจชาติคู่ค้าซบเซา
แนวหน้า : คลังปรับลดจีดีพีปี’58 เหลือแค่ 2.8% ส่งออกติดลบ 5.4% ส่วนปี’59 คาดโต 3.8% เพราะได้แรงส่งจากโครงการลงทุนภาครัฐ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ช่วยส่งออกขยายตัว 3.2%
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของปี 2558 เหลือ 2.8% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่2.6-3.1% จากเดิมคาดไว้ 3% ต่อปี และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.9% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนหลักจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้
นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูงคาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น จีน จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 5.4% ต่อปี
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ -0.9% ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามการผลิตน้ำมันในสหรัฐขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว 3.8% โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกปีหน้าจะขยายตัว 3.2% ต่อปี ด้านการส่งออกบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งอาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะอยู่ที่ 1.8% ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการอ่อนค่าของเงินบาท
น.ส.กุลยา กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องทั้งจากการส่งออกสินค้าของไทยและการใช้จ่ายภาคเอกชนผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวต่างชาติแม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 และ 2559 ต่อไป
สำหรับ การบริโภคภาคเอกชนยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวได้ 2.1% ต่อปี จากการขยายตัวของยอดการจัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 13.2% ต่อปี แต่ยอดจัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -11.8% ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมหดตัว -0.7% ต่อปี
ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายน 2558 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่-12.6% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 หดตัว -0.5% ต่อปี