WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GFIMSคลังลุยภาษีที่ดิน เตรียมชงครม. จัดเก็บ 4ประเภท ดีเดย์ 1 มกราคมปี60

        แนวหน้า : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้สรุปร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาแล้ว เพื่อส่งเรื่องต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยสาระสำคัญของการเก็บภาษีที่ดินได้กำหนดอัตราเพดานภาษีไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 0.2% ของราคาประเมิน ภาษีที่ดินที่อยู่อาศัยอัตรา 0.3% ของราคาประเมิน ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม 1.0% ของราคาประเมิน และภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ในช่วง 1-3 ปีแรกเก็บภาษี 1% ในช่วง 4-6 ปี เก็บเพิ่มเป็น 2% และปีที่ 7 ขึ้นไป เสียภาษี 3% โดยจะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

      ทั้งนี้ ในส่วนของการเก็บภาษีที่ดินจะจัดเก็บจริง 3 ประเภทแรกที่จะถูกกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะเก็บแบบขั้นบันไดตามราคาประเมิน โดยในส่วนแรกภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทแรก เก็บภาษี 0.01% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่าย 200 บาทต่อปี ไปถึงมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เก็บภาษี 0.1% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่จ่าย 5.63 หมื่นบาทต่อปี

        ขณะที่ภาษีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท เก็บภาษี 0.03%หรือคิดเป็นภาษีที่จ่าย600 บาทต่อปี ไปจนถึงบ้านที่ราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป เก็บภาษี 0.2% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่าย 1.63 แสนบาทต่อปี

     สำหรับ ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท เก็บภาษี 0.1% หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่าย 2,000 บาทต่อปี ไปจนถึงมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 0.6% หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่าย 28 ล้านบาทต่อปี

    อย่างไรก็ตาม จะมีการบรรเทาภาระภาษีกรณีที่อยู่อาศัยให้เหลือครึ่งหนึ่งของภาษีที่ต้องชำระเป็นเวลา 3 ปีหากผู้เสียภาษีอยู่อาศัยเกิน 15 ปี เป็นผู้มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

     แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้ทำการประเมินการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเบื้องต้นว่าในช่วง 3 ปี แรกที่มีการบรรเทาจากผลกระทบ จะเก็บภาษีได้ปีละ 8.2 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไปจะเก็บภาษีได้ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีจะมีการกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากจะเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!