- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 28 September 2015 22:22
- Hits: 1922
ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS) ไตรมาสที่ 3 (เมษายน – มิถุนายน 2558) และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) ขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 43,603 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP) โดยขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 63.9 ทั้งนี้ ภาคสาธารณะมีรายได้รวม 5,298,975 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 326,184 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 สาเหตุสำคัญ เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโรงงานยาสูบ มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง สำหรับด้านรายจ่ายภาคสาธารณะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 5,342,578 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 403,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 อันเนื่องมาจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) มีการเบิกจ่ายลดลง ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) เกินดุล 112,595 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP)
นายกฤษฎาฯ สรุปว่า “รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน”
1. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2558 (เมษายน – มิถุนายน 2558) มีรายได้ 1,862,977 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 132,368 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 และมีรายจ่าย 1,696,298 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 149,337 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 ทั้งนี้ ดุลการคลังภาคสาธารณะใน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2558 เกินดุล 166,679 ล้านบาท เกินดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 16,969 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 และเมื่อพิจารณาดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย รวมทั้งการชำระต้นเงินกู้) เกินดุล 238,101 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP
1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 854,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 69,738 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.9 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 744,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 74,847 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 24,444 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากส่วนราชการอื่น ที่จัดเก็บได้มากขึ้น 10,687 ล้านบาท จากเงินประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 กับทุนหมุนเวียนบางแห่งนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ประกอบกับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เพิ่มขึ้น 6,057 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเลื่อนนำส่งรายได้ของไตรมาสที่แล้วมาเป็นไตรมาสนี้ สำหรับกองทุนนอกงบประมาณ มีรายได้ทั้งสิ้น 110,881 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5,109 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.4 โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 6,045 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน มีรายได้จากเงินสมทบเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น 1,806 ล้านบาท
ในด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการเบิกจ่ายรวม 674,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 49,395 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.9 ประกอบด้วย
- รายจ่ายรัฐบาล 603,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 56,531 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.3
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 7,811 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง จำนวน 7,103 ล้านบาท (2) รายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 238 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 144 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (แสตมป์สรรพาสามิตจำนวน 57 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 163 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 307 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 63,788 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10,421 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.0 โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเงินชดเชยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12,473 ล้านบาท ในขณะที่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายการใช้สินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 2,086 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2558 เกินดุล 180,101 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของ GDP) เกินดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 20,343 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7
1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. มีรายได้ จำนวน 132,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 22,374 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.3 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการได้รับเงินอุดหนุน จากรัฐบาลเพิ่มขึ้น 18,627 ล้านบาท ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 141,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 9,216 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.0 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. ขาดดุล 9,297 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) ขาดดุลลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 13,158 ล้านบาท
1.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้ 986,564 ล้านบาท ลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 209,427 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง จำนวน 183,385 ล้านบาท ด้านรายจ่าย รัฐวิสาหกิจฯ มีรายจ่ายรวม 990,689 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 192,895 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.3 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโรงงานยาสูบมีรายจ่ายประจำลดลง 182,789 4,402 และ 3,405 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าวดุลการคลัง ของรัฐวิสาหกิจฯ ขาดดุล 4,125 ล้านบาท
2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – มิถุนายน 2558) มีรายได้ 5,298,975 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 326,184 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากการที่รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้ลดลง 496,817 ล้านบาท สำหรับด้านรายจ่าย มีทั้งสิ้น 5,342,578 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 403,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 ส่งผลให้ดุลการคลัง ภาคสาธารณะขาดดุล 43,603 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP โดยขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 77,112 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.9 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) เกินดุล 112,595 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP
2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 2,226,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 155,100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.5 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 1,808,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 116,580 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 สาเหตุสำคัญเกิดจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภค โดยเฉพาะภาษีน้ำมันที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 45,740 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น 35,592 ล้านบาท เป็นผลจากการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน และการนำส่งรายได้จากเงินประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ทั้งสิ้น 418,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 38,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.2 โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 30,865 ล้านบาท
ในด้านรายจ่าย รัฐบาลมีรายจ่ายรวม 2,310,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 71,234 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ประกอบด้วย
- รายจ่ายรัฐบาล 2,071,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 84,940 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.3
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 15,260 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง จำนวน 9,554 ล้านบาท (2) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 3,623 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,100 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 983 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 223,690 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 14,728 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.2 โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเงินชดเชย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 25,294 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายการใช้สินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 6,152 ล้านบาท อีกทั้ง กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2,135 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 83,749 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 83,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 50.0
2.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. มีรายได้ จำนวน 477,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3,918 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 เนื่องจากมีรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ และรายได้ที่จัดเก็บเองเพิ่มขึ้น 6,834 และ 2,058 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่รายได้จากเงินอุดหนุนลดลง 4,975 ล้านบาท ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 427,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21,739 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.4 ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 50,180 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) เกินดุลลดลง 17,821 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกินดุล จำนวน 68,001 ล้านบาท
2.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้ 3,067,283 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 496,817 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง จำนวน 499,510 ล้านบาท ด้านรายจ่าย รัฐวิสาหกิจฯ มีรายจ่ายรวม 3,077,317 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 507,884 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.2 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลง 464,921 ล้านบาท และ 26,793 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจฯ ขาดดุล 10,034 ล้านบาท
กระทรวงการคลัง