- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 24 September 2015 22:17
- Hits: 2322
'สมคิด'สั่งแบงก์รัฐฯ อุ้มเกษตรกรผ่าวิกฤตภัยแล้งปีหน้า เร่งหามาตรการให้แล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์
'สมคิด'สั่งธ.ก.ส.อุ้มเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้งปีหน้า เร่งหามาตรการให้แล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ ด้าน ธ.ก.ส.ผนึกออมสิน - เอสเอ็มอีแบงก์ รับลูกหาแผนช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง เบื้องต้นคาดสนับสนุนการเงิน-ยืดเวลาชำระหนี้ ฟาก รมว.คลังแย้มอาจมีมาตรการแจกเงินช่วยเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า รองนายกฯได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ และกระทรวงเกษตร เร่งหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการภัยพิบัติ ภาคเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะมีการหารืออีกครั้งในช่วง 1-2 วันนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ และจะเสนอครม.ให้รับทราบให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ มาตรการที่จะออกมานั้น จะเป็นลักษณะบูรณาการ โดยมีทั้งมาตรการยืดเวลาชะระหนี้ พักหนี้ สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือ เป็นต้น โดยจะมีทั้งการให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างภาคเกษตรของประเทศ โดยในหลักการจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน จากปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ว่าภัยธรรมชาติชนิดใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องให้เกษตรกรมีเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีพได้
"มาตรการที่ออกมาจะเป็นมาตรการที่บูรณาการ โดยอาจจะมีการแจกเงินให้เกษตร ในพื้นที่ที่มองแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย ซึ่งวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการจะต้องมีการหารือให้จบ ซึ่งยืนยันว่ามาตรการครั้งนี้เป็นมาตรการผสมผสานจริงๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากมาตรการที่เคยดำเนินการไปแล้ว โดยมาตรการครั้งนี้ เป็นการทำงานล่วงหน้า เรามองปัญหาล่วงหน้า เพื่อหาแนวทางป้องกัน เป็นแนวคิดในการทำงาน ไม่ใช่เห็นปัญหาแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า ปัญหาภัยแล้งในปี 59 จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งถือกว่าปกติ โดยจะแบ่งเป็น 2 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว 1.พื้นที่วิกฤติลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง 26 จังหวัด 2.พื้นที่ประสบภัยพิบัติทั่วไป โดยแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ จะเน้นไปที่พื้นที่วิกฤตเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯจะมีการนำข้อมูลที่เตรียมไว้ เกี่ยวกับการจัดพื้นที่โซนนิ่งภาคเกษตรมาใช้ในการประกอบการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้วในครั้งนี้ โดยยอมรับว่า อาจจะมีบางพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ก็จะต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในเบื้องต้น ธ.ก.ส.จะส่งพนักงานไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือ ส่วนพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ อาจจะมีการแนะนำ เชิญชวนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก เช่น ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง
ส่วนนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนทางการเงินทุกรูปแบบ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ และมีการวางแผนอย่างบูรณาการ เป็นต้น
ขณะที่นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ภัยแล้งในครั้งนี้ประเมินว่าจะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรลดน้อยลง ดังนั้นจะต้องมีการเสริมรายได้ในช่องทางอื่นผ่านวิสาหกิจชุมชน และสินค้าผลิตภัณฑ์ในตำบล รวมถึงได้มีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ในการหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
อภิศักดิ์"สั่งหาเอ็มดีแบงก์รัฐ ขีดเส้นตายทุกแห่งต้องได้ปีนี้ เครื่องมือสำคัญรัฐช่วยประชาชน
มติชนออนไลน์ : วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558
รมว.คลังมอบนโยบาย สคร.เร่งสรรหาผู้บริหารสูงสุดแบงก์รัฐ พบหลายแห่งยังว่าง ยันเป็นเครื่องมือสำคัญสนองนโยบายภาครัฐช่วยเหลือประชาชน ขีดเส้นช้าสุดทุกแบงก์ต้องได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ ปฏิเสธเปลี่ยนประธานบอร์ดใหม่หมด เร่งแก้ปัญหาฟื้นฟูกิจการ แยกหนี้เสีย หาพันธมิตรร่วมทุนหนี้ดี ส่วนผู้บริหารปัจจุบันมีหลายแห่งจะเกษียณสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ต้องเร่งสรรหาเช่นเดียวกัน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปเร่งดำเนินการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือแบงก์รัฐ จากปัจจุบันมีหลายแบงก์ที่ตำแหน่งยังว่างอยู่ เพราะแบงก์รัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ อย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปีนี้
"ได้คุยกับทาง สคร.แล้วว่าจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้บริหารสูงสุดมาขับเคลื่อน แต่ก็เข้าใจว่าปัญหาที่ทำให้การสรรหาล่าช้า เพราะการทำงานราชการ มีความเสี่ยงสูง อาจจะไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้ แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการ โดยในปีนี้ก็ต้องให้ได้ทุกแบงก์" นายอภิศักดิ์กล่าว
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาในส่วนที่ยังมีปัญหาต้องฟื้นฟูกิจการ ทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยในส่วนของไอแบงก์นั้น ได้รับรายงานว่าจะมีการแยกหนี้เสียออกมาแล้วตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ขึ้นมาบริหาร ส่วนหนี้ดีก็จะหาพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งก็ต้องได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนประธานธนาคารแบงก์รัฐใหม่หมดหรือไม่ นายอภิศักดิ์กล่าวว่า คงไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น หากแบงก์ไหนที่ยังขาดต้องเติมให้เต็ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายนริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลาออกจากประธานเอ็กซิมแบงก์ โดยให้เหตุผลว่ากำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2558 นี้ ดังนั้น ต้องการเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งคนอื่นมาทำหน้าที่แทน ส่วนผู้บริหารสูงสุดของแบงก์รัฐนั้นที่ยังขาดอยู่ ประกอบด้วย เอสเอ็มอีแบงก์ ไอแบงก์ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) โดยบางแห่ง เช่น กรณีของไอแบงก์ไม่มีผู้บริหารสูงสุดมากว่า 2 ปีแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีแบงก์รัฐที่จะมีผู้บริหารเกษียณอายุในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการสรรหาคนมาแทน คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังที่ไม่มีผู้บริหารสูงสุด คือ โรงงานยาสูบ ได้มีการแต่งตั้งรักษาการมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
ธอส. ขานรับนโยบายคลัง เตรียมคลอดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯภายใน 2 สัปดาห์ - มั่นใจสินเชื่อปีนี้เข้าเป้า 1.49 แสนลบ.
ธอส. ขานรับนโยบายคลัง เตรียมคลอดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯภายใน 2 สัปดาห์ เผย 8 เดือนแรก ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 9 หมื่นลบ. มั่นใจปีนี้เข้าเป้า 1.49 แสนลบ.
นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย คาดว่า 2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุป ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้สนองนโยบายรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดย 8 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อบ้านไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อบ้านปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 1.49 แสนล้านบาท
"ที่ผ่านมาเราช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และที่ผ่านมามีลูกค้ายังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนอยู่บ้าน แต่ถ้ามาตรการนี้ออกไปจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น" นางอังคณา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย