- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 15 September 2015 09:12
- Hits: 4098
กรมบัญชีกลาง คาดปีงบ 58 จะเบิกจ่ายงบรักษาพยาบาลเกินเป้า 3,000 ลบ. พร้อมคุมเข้มการเบิกจ่ายในปีงบ 59 ตัดรายการตรวจสุขภาพที่ไม่จำเป็น
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-ก.ย.58) รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไว้ทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายเกินเป้าหมายประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 -ก.ย.59) รัฐบาลจัดสรรวงเงินไว้ 60,000 ล้านบาทเท่าเดิม แต่จะมีการคุมเข้มการเบิกจ่ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกินวงเงินที่ตั้งไว้
สำหรับ มาตราการคุมเข้มการเบิกจ่ายงบรักษาพยาบาล เช่น การกำหนดรายการตรวจสุขภาพประจำปี จะมีการยกเลิกรายการที่ไม่จำเป็น เช่น การเอ็กซ์ปอดพบว่าส่วนใหญ่จะตรวจถึงปีละ 2 ครั้งซึ่งเกินความจำเป็น ต่อไปควรจะตรวจเมื่อเห็นว่ามีอาการหรือต้องเข้ารับการรักษาเท่านั้น โดยจะเอางบที่ประหยัดจากส่วนนี้ไปเพิ่มส่วนของการรักษาพยาบาลฉุกเฉินแทน
"การเบิกงบรักษาพยาบาลจะไปกระจุกตัวในช่วงของข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมากกว่ากลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้งบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีแนวคิดจะดึงบริษัทเอกชนมารับประกันสุขภาพ เช่น ทิพยประกันภัยแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป"นายมนัส กล่าว
กรมบัญชีกลาง คาดปีงบ 59 จะเบิกจ่ายงบรวมได้ 2.60 ล้านลบ. แบ่งเป็นจ่ายประจำ 2.132 ล้านลบ. - รายจ่ายลงทุน 4.73 แสนลบ.
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 - ก.ย.59) คาดว่าจะเบิกจ่ายงบภาพรวมประมาณ 2.605 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 96% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.132 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 98% และรายจ่ายลงทุน 473,588 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87%
ส่วนแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างนั้น กรมบัญชีกลางได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว และสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมทั้งทำให้การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ของส่วนราชการในปีงบประมาณ 2559 รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยได้มีการออกหนังสือเวียน แจ้งให้หน่วยราชการเตรียมการในการจัดหาพัสดุในขั้นตอนต่างๆ ให้พร้อม และเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 นั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ก่อนเสนอให้ครม.รับทราบ และนำเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สำหรับราชการก็สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที ซึ่งแนวทางดังกล่าวคาดว่าจะทำให้หน่วยงานสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559 อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสาร และพิมพ์งานต่างๆ เอกสาร เทปกาว ซองเอกสาร สรุปการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2558 มีทั้งหมด 69 โครงการ คิดเป็นเงินงบประมาณรวม 70.11 ล้านบาท ประหวัดงบได้ 9.73%
ด้านการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สรุปการจัดซื้อจัดจ้างมีทั้งหมด 4,333 โครงการ คิดเป็นเงินงบประมาณ 20,791.73 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้ 6.46%
กรมบัญชีกลางรับ ปีงบ 58 อาจเบิกจ่ายงบลงทุนพลาดเป้าจาก 4.49 แสนลบ. เหตุราคาน้ำมันลด - มี พ.ร.บ.โอนงบฯ เข้ามาควบคุม
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-ก.ย.58 ) คาดว่าจะเบิกจ่ายภาพรวมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.575 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 96% โดย ณ 31 ส.ค. ที่ผ่านมาเบิกจ่ายได้แล้ว 2.201 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 85.5% โดยงบรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้แล้ว 1.937 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 91.2% จากเป้าหมายที่ 2.125 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ขณะที่งบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 คาดว่าจะเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 449,476 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณจะเบิกจ่ายได้เพียง 292,159 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65% โดยปัจจุบันเบิกจ่ายได้เพียง 263,231 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.6%
สำหรับ สาเหตุที่การเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับลดราคาน้ำมัน ดังนั้นระบบจึงต้องปรับคำนวณราคากลางน้ำมันใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ทำให้มีความล่าช้าในการลงทุน รวมทั้งจากรัฐบาลมีการออก พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่าย ซึ่งหากหน่วยงานใดไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันก่อนวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา จะต้องโอนเงินเข้างบกลาง ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2558 มีการโอนเงินเข้างบกลาง 7,900 ล้านบาท ไปตั้งไว้เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
“ในปีงบประมาณนี้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่ไม่สามารถก่อหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนดจะต้องส่งเงินกลับ ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ก็เช่นเดียวกัน ทุกหน่วยงานจะต้องเร่งก่อหนี้ผูกพันให้ทันภายในกลางปี ซึ่งการออกพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น จะส่งผลให้หน่วยงานมีระเบียบวินัยมากขึ้น เร่งเบิกจ่าย หรือก่อหนี้ให้ได้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งหากหน่วยงานใดเบิกจ่ายล่าช้า รมว.ก็มีการเรียกเข้าไปตำหนิในแต่ละหน่วยงาน”นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวว่า สำหรับการเบิกจ่ายงบโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันเบิกจ่ายได้แล้ว 71,127 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.3% จากเป้าหมายที่ 153,488 ล้านบาท โดยประกอบด้วยงบเงินกู้ไทยเข้มแข็งปัจจุบันเบิกจ่ายได้แล้ว 11,341 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.6% จากเป้าหมายที่ 15,200 ล้านบาท มาตรการเพิ่มรายได้ชาวนา เบิกจ่ายได้แล้ว 39,388 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.5% จากเป้าหมาย 40,000 ล้านบาท วงเงินชดเชยรายได้สวนยางเบิกจ่ายได้แล้ว 8,059 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.3% จากเป้าหมาย 8,200 ล้านบาท ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำเบิกจ่ายได้ 3,312 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.2% จากเป้าหมาย 78,295 ล้านบาท
ด้านเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ณ 31 สิงหาคม 2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 200,303 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.9% จากเป้าหมาย 351,818 ล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณเบิกจ่ายได้ 154,974 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68% จากเป้าหมาย 227,876 ล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย