WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gอภศกดชงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้'สมคิด'สั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสนอง'บิ๊กตู่'

   คลัง เสนอ ครม.วันนี้ (1 ก.ย.) ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อเชื่อมรอยต่อกับการลงทุนเมกะโปรเจกต์ปีหน้า ด้าน'สมคิด' ตั้งโต๊ะกินโจ๊ก ถกหน่วยงานเศรษฐกิจเดินหน้างานเร่งด่วน ทั้งแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ดันราคาสินค้าเกษตร ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาสินค้าเอสเอ็มอี–โอทอป พร้อมเดินหน้าต่อเศรษฐกิจดิจิตอล

   นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น, มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐผ่านตำบลต่างๆทั่วประเทศ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดูแลรับผิดชอบ และมาตรการใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้การเบิกจ่ายทำได้สะดวกขึ้น และส่งผลประโยชน์กับผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งรับงานมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยทั้ง 3 มาตรการคงเป็นการเสนอรายละเอียดกว้างๆก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยคงให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว มีเม็ดเงินรวมประมาณ 136,000 ล้านบาท เป็นมาตรการช่วยพยุงเศรษฐกิจระยะ 3 เดือน ซึ่งดำเนินการได้ทันทีหลังจาก ครม. อนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 1.การปล่อยสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้านวงเงิน 60,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2.จัดสรรวงเงินงบประมาณแบบให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7,000 ตำบล วงเงินรวม 36,000 ล้านบาท และ 3.จัดงบลงทุนให้ส่วนราชการที่เสนอโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท

  โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า ทั้ง 3 โครงการ จะเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจปีนี้ให้มีอัตราการเติบโตได้ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อประสานกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มต้นในปีหน้า นอกจากนี้ นายอภิศักดิ์ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษามาตรการเพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนจริง แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะขณะนี้ มีหลายโครงการที่ขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มลงทุน เพราะรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน จึงต้องจูงใจให้ลงทุนเร็วขึ้น

   ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเมื่อเวลา 07.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เป็นการรับประทานโจ๊กร่วมกัน เพื่อปรึกษาหารือกันแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเกิดประสิทธิภาพ โดยแจ้งให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมว.พาณิชย์ ดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งปาล์มน้ำมันมีการลักลอบนำเข้า จึงจะหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้ช่วยตรวจสอบอย่างเข้มงวด

  “ได้หารือกับ รมว.คลังว่า หลังจากมาตรการดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ออกมาแล้ว อยากให้ดูแลเรื่องการจูงใจให้นักลงทุนเร่งลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังทำเป็นซีรีส์ออกมา ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่นายกฯสั่งการมาให้รีบดูแล คือ ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้า ซึ่งราคาน้ำมันลดแล้ว แต่สินค้ายังแพงอยู่ กระทรวงพาณิชย์ต้องตั้งทีมตรวจสอบ ขอให้ผู้ค้าร่วมมือด้วย”

   ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงฯจะสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านการค้าด้วย ซึ่งเป็นมิติใหม่ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้มีผลิตผลที่สูงขึ้น สินค้าโอทอป จะมีมาตรฐานดีขึ้น ในด้านเกษตร จะช่วยตั้งแต่เรื่องพันธุ์พืชไปจนถึงการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมใดจะทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ซึ่งใช้เทคโนโลยีทั้งสิ้น

   ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้หารือถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น เช่น การพัฒนาข้าว ที่หลายกระทรวงอยากทำโครงการข้าว ดังนั้น น่าจะร่วมกันดำเนินการให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยได้เสนอโครงการที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยลงไปถึงระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในหมู่บ้าน โครงการเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ โครงการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเงินจะลงถึงมือเกษตรกร และเกิดประโยชน์ในภาพรวม

    ส่วนนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องคลัสเตอร์ 6-7 กลุ่ม ที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ โดยจะหารือร่วมกับบีโอไอ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดรายละเอียดการให้สิทธิประโยชน์ให้เสร็จโดยเร็ว ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลยังคงเดินหน้าต่อ และเร่งให้งานออกมาเป็นรูปธรรม รวมทั้งผลักดันให้จริงจังในการเดินหน้าประมูล 4 จี.

'สมคิด' ถกทีมศก.นัดแรก กำชับดูราคาสินค้า-ยาง-ปาล์ม

     'สมคิด' เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจนัดแรก จ่อถกทุกวันจันทร์ เตรียมชงมาตรการกระตุ้นเข้า ครม. อังคารนี้ กำชับเจ้ากระทรวงทำแผนรับมือหากเกิดปัญหา ประสาน "ประวิตร-พาณิชย์-เกษตรฯ" ดูราคายางพารา ปาล์ม สินค้าอุปโภคบริโภค หลังน้ำมันปรับลด...

    เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ส.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เป็นครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือให้การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และให้แต่ละหน่วยงานมีแผนรับมือหากเกิดปัญหาต่างๆ รวมทั้งเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ โดยจะมีการจัดประชุมในรูปแบบนี้ทุกวันจันทร์

    นายสมคิด กล่าวว่า หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับลดลง จะให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้ปรับลดลงเช่นกัน โดยจะขอความร่วมมือกับพ่อค้าแม่ค้าด้วย พร้อมกันนั้นจะกำชับไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งในส่วนของปาล์มน้ำมันที่มีปัญหาการลักลอบ จะขอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ดำเนินการตรวจสอบ

    นอกจากนี้ จะกำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หามาตราดูแลเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อสร้างแรงจูงใจกับนักลงทุน ให้เข้ามาเร่งลงทุนในกลุ่มนี้ เพื่อเกิดการลงทุนอย่างจริงจังทั้งรายเล็กและรายใหญ่

    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้( 1 ก.ย.) จะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แพคเกจเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย, มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐลงไปสู่ระดับตำบล และมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้ประกอบการมีส่วนเข้าไปรับงานได้.

      ที่มา : www.thairath.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!