- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 01 August 2015 13:28
- Hits: 2049
ชง 6 มาตรการกู้ ศก.ชาติ ขุนคลังฮึดดันจีดีพีโต 3.2 % เร่งแผนเข้าครม.เคาะ 4 ส.ค. นี้
บ้านเมือง : ขุนคลังเสนอ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้า ครม. 4 ส.ค.นี้ หวังดัน GDP ปีนี้โต 3.2% ระบุ ต.ค. มีเงินเติมกระเป๋าข้าราชการออกจาก กบข. กว่า 7 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น 6 เรื่อง และเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้
สำหรับ 6 มาตรการประกอบด้วย 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางราง ถนน น้ำ สนามบิน รวมงบกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท 6.5 หมื่นล้านบาท 2.การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ที่มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ การส่งเสริมผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในเศรษฐกิจเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมยาง
3.การกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 3.1 การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 3.2 การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น 3.3 การให้สินเชื่อและการค้ำประกัน SMEs 3.4 การกระตุ้นผ่านมาตรการภาษี 3.5 การกระตุ้นผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 3.6 การกระตุ้นผ่านมาตรการอื่นๆ เช่น นาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น
4.การกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการที่บรรจุในงบประมาณประจำปี ซึ่งในปี 58 มีโครงการลงทุนทั้งหมด 1.57 แสนล้านบาท โดยจะเร่งติดตามให้เกิดการใช้จ่ายเร็วขึ้น 5.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผ่านการดำเนินงานของ 10 กองทุน เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น และ 6.การปรับปรุงการบริหารสหกรณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปรับปรุงจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อรองรับนโยบายจากรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร
"คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในการติดตาม ดูแล ประเมินความเหมาะสมของแต่ละโครงการ ขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ยังเป็นผู้ผลักดันโครงการเช่นเดิม ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเม็ดเงินตาม 6 มาตรการที่อยู่ในงบประมาณปี 2558 ราว 5 แสนล้านบาท และจะสามารถเบิกจ่ายได้จริงราว 3.5 แสนล้านบาท โดยหากการดำเนินมาตรการมีศักยภาพเพียงพอจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3.2%" นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กับส่วนราชการทั้งหมดเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่ช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ในวาระ 3 เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้เร็วขึ้น หากส่วนราชการใดไม่เร่งดำเนินการก็ต้องมีการรับผิดชอบในความล่าช้าที่เกิดขึ้นด้วย
สำหรับ การเบิกจ่ายเงินในปีงบประมาณ 2558 ล่าสุด ณ วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายใน
ภาพรวมได้ 2.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของงบประมาณทั้งหมด โดยมั่นใจว่าทั้งปีงบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ 96% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด ขณะที่งบลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ 2.36 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 53% ของงบลงทุนรวมที่ 4.49 แสนล้านบาท
นายสมหมาย กล่าวว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าถึง 35 บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ต้องการดึงเงินจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) กลับ ส่งผลให้เงินบาทรวมถึงสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การไหลออกของค่าเงินในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง
"การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นไปตามทิศทางของตลาดทั้งสิ้น เพราะเงินในหลายๆ สกุลอื่นก็อ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน"รมว.คลัง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไม่ปกติ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วยให้เกิดการกู้เงินเพื่อไปลงทุนเพิ่มขึ้นแน่ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังอยู่ในลักษณะ U shape ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบ V shape ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามออกมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3-3.2% ถือเป็นระดับที่น่าดีใจแล้ว ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวมากขึ้นนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะ
รมว.คลัง เสนอ 6 มาตรการกระตุ้น ศก.เข้า ครม.4 ส.ค.ดัน GDP ปีนี้โต 3.2%
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น 6 เรื่อง และเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้
สำหรับ 6 มาตรการประกอบด้วย 1. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางราง ถนน น้ำ สนามบิน รวมงบกรมทางหลวง และทางหลวงชนบท 6.5 หมื่นล้านบาท
2. การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยจะส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ที่มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ การส่งเสริมผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในเศรษฐกิจเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมยาง
3. การกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 3.1 การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 3.2 การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น 3.3 การให้สินเชื่อและการค้ำประกัน SMEs 3.4 การกระตุ้นผ่านมาตรการภาษี 3.5 การกระตุ้นผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 3.6 การกระตุ้นผ่านมาตรการอื่นๆ เช่น นาโนไฟแนนซ์
4. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่บรรจุในงบประมาณประจำปี ซึ่งในปี 58 มีโครงการลงทุนทั้งหมด 1.57 แสนล้านบาท โดยจะเร่งติดตามให้เกิดการใช้จ่ายเร็วขึ้น
5. การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผ่านการดำเนินงานของ 10 กองทุน เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น
และ 6. การปรับปรุงการบริหารสหกรณ์ที่มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อินโฟเควสท์