- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 23 June 2014 22:44
- Hits: 3433
คสช.จัดระเบียบลงทุนใหม่คลังคลายกฎเบิกค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน
บ้านเมือง : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมระหว่างทีมเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนดังกล่าว ไมว่าจะเป็นกระทรวงการคลังกระทรงคมนาคม, สนข., สำนักงบประมาณ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน สั่งให้กระทรวงคมนาคม ไปจัดลำดับความสำคัญ โครงการลงทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยโครงการลงทุนก่อสร้างถนนในหลายเส้นทาง ขอให้ชะลอออกไปก่อน แล้วให้ความสำคัญต่อ โครงการพัฒนาระบบราง
"โครงการลงทุนระบบคมนาคมและขนส่ง ซึ่งจะอาศัยแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินกู้ตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ต่างจากแนวความคิดของรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการเหล่านั้น ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ที่กำหนดให้รัฐบาล ขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย และค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายเช่นกัน" แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับ งบประมาณรายจ่าย ปี 58 ที่กำหนดขาดดุลไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท จะมีเม็ดเงินที่นำไปลงทุนในโครงการลงทุนใหม่ๆ น้อยมาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านระบบคมนาคม 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นกระทรวงการคลัง จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ในประเทศ และรวมถึงการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนด้านระบบคมนาคมและขนส่ง หันมาใช้วิธีการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ผ่านวิธีภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (พีพีพี)
ทั้งนี้ การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่ภาระต้นทุนของการระดมทุนจะสูงกว่า การออกพันธบัตรรัฐบาล, ส่วนการลงทุน แบบพีพีพี ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายพีพีพี ที่เป็นแม่บทให้อยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูก เพื่อกำหนดรายละเอียดของเงื่อนไขการลงทุน แต่สำหรับการลงทุนแบบพีพีพี จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะที่ผ่านมาโครงการที่เอกชนไปรับสัมปทานจากรัฐ มักมีปัญหาด้านการปฏิบัติตามสัญญา โดยเฉพาะในเรื่องการปรับขึ้นค่าบริการ
สำหรับ โครงการลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 58-66 จะประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งทางน้ำ,การพัฒนาระบบขนส่งทางราง, การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ, การพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และระบบขนส่งรถไฟฟ้าชาญเมือง คาดว่า จะมีการพิจารณารายละเอียดของแผนทั้งหมด เพื่อสรุปภายในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนที่จะเสนอให้หัวหน้า คสช.พิจารณาอนุมัติ และประกาศเป็นแผนการลงทุนของประเทศต่อไป
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลจากการเรียกร้องของข้าราชการในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษา
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลจากการเรียกร้องของข้าราชการในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษา โรงพยาบาลเอกชน แต่เกิดปัญหาว่า ผู้เจ็บป่วยในกรณีใดที่ถือว่า เข้าขั้นวิกฤติในทางความเห็นแพทย์ ทำให้ข้าราชการรวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเช่น บิดา มารดา สามี-ภรรยาและบุตร เกิดความเข้าใจผิด โดยนำผู้เจ็บป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนโดยหวังว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายแล้ว โรงพยาบาลก็ได้เรียกเก็บเงิน จากการรักษาดังกล่าว ทำให้ข้าราชการได้รับความเดือดร้อนและคิดว่า ตนเองถูกลิดรอนสิทธิ์ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนกรมบัญชีกลางจึงได้ออกประกาศการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน สถานพยาบาลเอกชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยยึดตามประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน โดยได้เพิ่มในกรณีที่ผู้เจ็บป่วยมีอาการรุนแรง แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤติ โดยผู้ป่วยนี้ จะใช้สัญญาลักษณ์ 'สีเขียว'โดยยึดหลักตามประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน แต่ผู้ที่เจ็บป่วยต้องทดรองจ่ายเงินและนำใบเสร็จไปเบิกที่ส่วนราชการต้นสังกัด
ทั้งนี้ คณะกรรมการแพทย์ฯ ได้แยกผู้เจ็บป่วยไว้ 3 กรณีคือ 1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะใช้สัญญาลักษณ์'สีแดง' คือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยกะทันหัน มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง 2. ‘สีเหลือง’ คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะเฉียบพลันมากหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงมากขึ้น และ 3.สีเขียวที่ความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยน้อยกว่าสีแดงและสีเหลือง เช่น แขนหักจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
สำหรับ หลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลใหม่นี้ ข้าราชการและผู้ที่ได้รับสิทธิ์กรณีเจ็บป่วยสีแดงและสีเหลืองจะเบิก จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามแนวทางการพิจารณาของ สปสช.ขณะที่ผู้บาดเจ็บ สีเขียวจะเบิกได้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 8,000 บาท ค่าห้องวันละ 1,000 บาท ค่าอวัยวะเทียมเบิกได้ไม่เกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้พยายามควบคุมค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่ให้เบิกเกินความจำเป็นโดยในแต่ละปีข้าราชการและผู้ที่ได้รับสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลประมาณ 16,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี