WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมหมาย ภาษ copy‘สมหมาย’ยอมรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังหนัก

     แนวหน้า : ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาส 2 ลดลงต่อเนื่อง นักธุรกิจหวังโครงการลงทุนภาครัฐ จะเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ‘สมหมาย’ยอมรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังแย่

     นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้จัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย (KTBI) โดยสำรวจจากนักธุรกิจกว่า 2,800 รายทั่วประเทศ พบว่าดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 2/2558 ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ 50.40 จากระดับ 51.53 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายด้าน เช่น การส่งออกที่ยังหดตัว ภาวะภัยแล้งที่รุนแรง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและเมื่อพิจารณาจำแนกตามประเภทธุรกิจพบว่าธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับปกติได้แก่ ธุรกิจการเกษตร พาณิชยกรรม และบริการ

   “ในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ”

   ผลสำรวจชี้ว่านักธุรกิจคาดหวังในโครงการลงทุนภาครัฐ ที่ได้รับการอนุมัติดำเนินการ เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง

   โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน ระหว่างไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด จะมีส่วนสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่น

   ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 2.6% ต่อปี แต่เชื่อว่า ทั้งปียังขยายตัวได้ 3% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจมีผลกระทบมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าส่งออกจะติดลบ 1.3% นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติม

     “คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังแย่กว่าครึ่งปีแรก ซึ่งกระทรวงการคลังก็เห็นด้วย เพราะข้อมูลที่อยู่ในมือชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังแย่กว่าครึ่งแรก ซึ่งเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะการส่งออกแย่กว่าเดิม การเร่งการลงทุนก็ทำกันเต็มที่แล้ว หากทำมากกว่านี้เครื่องจะไหม้กันไปเสียก่อนการทำให้เศรษฐกิจโตไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี เป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลอย่างมาก” นายสมหมาย กล่าว

เศรษฐกรเวิลด์แบงก์คาด ศก.โลกปีนี้ฟื้นช้า GDP ไทยขับเคลื่อนจากงบรัฐ-ท่องเที่ยว

   นางกิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ"ก้าวทันความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลก ครึ่งหลังปี 2558 จับทิศดอกเบี้ยและค่าเงิน"ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 2.8% จากการฟื้นตัวที่ล่าช้า โดยเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้มากที่สุด ขณะที่ยุโรปจะเติบโตได้ไม่มาก และญี่ปุ่นมีการเติบโตที่อยู่ในระดับที่ทรงตัว หรือประมาณการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 1%, จีนมีการขยายตัวที่ชะลอตัวลง ขณะที่อินเดียเป็นประเทศดาวรุ่งที่ปีนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเติบโตใกล้เคียงกับจีน

     ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 3-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนของภาครัฐที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากฐานต่ำในปีก่อน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่ยังคงกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศเอง ในระยะสั้นนี้ก็จะเป็นเรื่องของภัยแล้ง

     ขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้ประเมินว่าน่าจะขยายตัวราว 0-0.5% โดยไทยควรมองการส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตรวมกันใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐฯ และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศเหล่านี้ และค่าเงินบาทด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ดีต่อการย้ายฐานไปลงทุนใน CLMV เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จาก GSP ส่วนในอาเซียนเอง ก็มองประเทศอินโดนีเซียที่มีการเติบโตที่ดีที่น่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทย

      อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวไทยควรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยหันมาผลิตสินค้าที่มีความต้องการที่สูงขึ้นแทน เช่น ฮาร์ดดิสไดร์ ขณะที่ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าไปอย่างรวดเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังถือว่าแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็นแล้ว

     นายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหาคกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่า ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันยังมีความผันผวน จากปัจจัยของกรีซที่กดดันตลาดทุนและตลาดเงินต่อเนื่อง เห็นได้ว่าค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่ามาพอสมควร จึงต้องจับตาการประชุมสภากรีซวันนี้ หากโหวตรับกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจที่เสนอให้กับเจ้าหนี้ก็จะส่งผลดีต่อตลาดในระยะสั้น เนื่องจากตลาดตอบรับข่าวกรีซมาพอสมควรแล้ว และอาจทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น เพราะภาพรวมค่าเงินยูโรยังเป็นทิศทางที่อ่อนค่าอยู่ และจะส่งผลต่อค่าเงินบาทที่จะเคลื่อนไหวตาม ถ้าอ่อนค่าทะลุ 33.90 บาท/ดอลลาร์ให้จับตาดูว่าหากยืนอยู่ได้ก็มีสิทธิ์อ่อนค่าไปต่อที่ 34.00-34.25 บาท/ดอลลาร์

       นอกจากนั้น ให้จับตาดูประธานธนาคารเฟด นางเจเน็ต เยลเลน จะออกมาแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปี ต่อสภาคองเกรส ซึ่งอาจจะออกมาส่งสัญญาณในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ย ถ้าหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงภายในปีนี้ จะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่จะปรับตัวแข็งค่า และค่าเงินบาทก็จะปรับตัวอ่อนค่า

KBANK มองส่งออกกดดัน GDP ปีนี้เสี่ยงโตแค่กรอบล่าง 2.2% หนุนคงอัตราดอกเบี้ย

     นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวในการสัมมนา"ก้าวทันความเคลื่อนไหว เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2558 จับทิศดอกเบี้ยและค่าเงิน"ในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกับทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558"ว่า แนวโน้ม GDP ของไทยในปีนี้น่าจะสามารถขยายตัวได้ในช่วง 2.8-2.2% โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นตามคาการณ์

                แต่ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตเพียง 2.2% ซึ่งเป็นกรอบล่างที่ธนาคารมองไว้ เพราะจนนถึงขณะนี้ภาครัฐฯยังเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงแค่ 40% เท่านั้น รวมทั้งมีการส่งออกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทย เพราะมีประเด็นเข้ามากระทบมากขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปจะมีการตัดสินว่าจะคว่ำบาตรสินค้าประมงของไทย ซึ่งหากยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมายก็จะยิ่งส่งผลลบต่อภาพรวมการส่งออกหดตัวมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ว่าส่งออกปีนี้จะติดลบราว 1.7%

      นายกอบสิทธิ์ ประเมินว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 34.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมคาดไว้ที่ 34.25 บาท/ดอลลาร์ สะท้อนภาพการส่งออกชะลอตัว และประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เชื่อว่าจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% เพราะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดอาจทำให้ค่าเงินผันผวน ดังนั้น ฝ่ายนโยบายการเงินไม่น่าจะรีบออกนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้ เพราะจะมีผลทำให้ตลาดเงินผันผวนได้

    "ดอกเบี้ยไทยมีความเหมาะสมแล้วในปัจจุบัน จึงมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยอีก เพราะมองว่านโยบายดอกเบี้ยไม่น่าจะใช่เครื่องมือช่วยเศรษฐกิจด้านเดียว เพราะสิ่งที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า คือ กระตุ้นผ่านการส่งออกถึงจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า การกระตุ้นด้านดอกเบี้ย ที่ส่งผลบวกในด้านตลาดเงินเท่านั้น"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

      ด้านพรวลี พิลาวรรณ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงอีกครั้ง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากประมาณการรอบก่อนที่ 3.5% และมองว่าในปี 59 น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% โดย IMF กล่าวถึงความเสี่ยงหลักๆ อย่างความผันผวนเรื่องกรีซ เศรษฐกิจจีนชะลอลงมากกว่าที่คาด

     ประเด็นที่สำคัญมากที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่องความเสี่ยงจากตลาดจีนที่อาจจะถูกผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว โดยประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบต่างๆ มาแล้วในระยะหนึ่ง โดยเฉพาะช่องทางการค้าหรือการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่ประมาณ 11% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรอบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเห็นความพยายามของทางการในการช่วยหนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านการสร้างทางรถไฟ แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการปรับภาพรวมของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเองก็ควรมีการปรับตัวเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลงด้วย ประเมิณว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราว 6%

     ส่วนความเสี่ยงระยะสั้นยังเป็นประเด็นจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องกรีซ แต่หากประเมิณภาพรวมทั้งสหภาพยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการเริ่มปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นไปสู่ภาคเอกชน ทั้งครัวเรือนและธุรกิจ แต่อย่างไรก็ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ศุภวุฒิ คาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีก 0.25%ใน Q3/58 ห่วงผลภัยแล้ง-เศรษฐพุฒิแนะหนุนเอกชนลงทุน

     นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวเสวนาในหัวข้อ"Thai Economic in the challenging world"ว่า ในช่วง 2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% จากปัจจุบัน 1.5% หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในด้านขาลง โดยการฟื้นตัวขึ้นยังช้าและมีความเปราะบาง

      ทั้งนี้ บล.ภัทรได้มีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่ 3.3% เนื่องจากปัจจัยลบ ภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่อาจจะมีผลกระทบไปถึงปี 59

     อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาได้ค่อนข้างดี ประกอบกับ ภาคการท่องเที่ยวยังมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น ช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่น่ากังวล คือ ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว และตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างมาก ธนาคารจีนยังคงมีความเป็นห่วง และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ

     "หากจีนมีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและลดค่าเงินหยวนให้อ่อนลง เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ยังไงเศรษฐกิจไทยก็ยังโตได้ราว 2% คงไม่ต่ำไปกว่านั้น"นายศุภวุฒิ กล่าว

    สำหรับ การลงทุนในตลาดทุนนั้ นายศุภวุฒิ แนะนำว่า นักลงทุนไม่ควรถือสินทรัพย์ระยาวยาวมากเกินไป เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของอัตราดกเบี้ยและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนและผลตอบแทนในอนาคต ส่วนอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทในประเทศไทย (EPS Growth)ในปีนี้ทาง บล.ภัทรอยู่ระหว่างการปรับคาดการณ์ หลังจากมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาภัยแล้ง

      อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยเศรษฐกิจไทยได้ดี คือ การเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐที่จะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาใช้ ประกอบกับ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งกระทบโดยตรงต่อการบริโภค

     ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถานบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะตัวขับเคลื่อนหลัก เช่น การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศ ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก ทำให้การส่งออกลดลง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังไม่กลับมาทำให้การลงทุนชะลอตัว ขณะที่ปัญหาภัยแล้งกระทบการบริโภคในประเทศ

      ปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างดี คือ การลงทุนภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เพราะภาคเอกชนในปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพ มีโอกาส และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ประกอบกับธนคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีสภาพคล่องที่มาก พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อ แต่ภาคเอกชนยังขาดความเชื่อมั่น จึงอยากให้ภาครัฐมีการจัดทำแผนงานที่ชัดเจนในโครงการที่ภาครัฐจะลงทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาระดับหนึ่ง ประกอบกับ ภาครัฐต้องมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนและกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น นโยบายลดหย่อนภาษีการลงทุนทั้งเอกชนในประเทศและเอกชนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน เป็นต้น

        "รัฐบาลควรหันมาส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น เพราะตอนนี้เอกชนเรามีศักภาพแมีโอกาสมาก แบงก์ก็มีสภาพคล่องเยอะ เขาพร้อมจะปล่อยสินเชื่อ อยากให้รัฐมีการลดหย่อนภาษีการลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นและเป็นลูกกระสุนสำคัญ ดีกว่าไปขึ้นภาษีที่เป็นสิ่งที่กดดัน และยังไม่จำเป็นในเวลานี้ เพราะฐานะการคลังเรายังดีอยู่"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

      ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามนอกเหนือจากปัญหาของกรีซ คือ เศรษฐกิจจีนที่ยังคงเป็นคำถามใหญ่ว่าภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะมีตัวแปรมาก ประกอบกับ หนี้สาธารณะของจีนในช่วงในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 200% ต่อGDP จากในช่วง 7-8 ปีก่อนที่ 150% ต่อ GDP ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ทำให้จีนมีโอกาสสะดุด และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย

      "จีนค่อนข้างมีอิทธิพล ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนสะดุดจริงจะมีผลต่อการบริโภคที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์จะมีการบริโภคลดลงและราคาจะปรับตัวลดลงตาม ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก หรือมีสัดส่วนการบริโภคที่ 40% ของการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก นอกจากนี้จะมีผลกระทบที่เป็นห่วงโซ่ต่อการท่องเที่ยวไทยที่ปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนมากที่สุด ก็มีโอกาสลดลง"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!