- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 29 June 2015 22:10
- Hits: 6047
คลัง เผย ศก.พ.ค. ยังได้การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงหนุนต่อการขยายตัว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับ ศก.โดยรวม เดือน พ.ค. ต่ำสุดมในรอบ 11 เดือน เผย ส่งออก พ.ค. ติดลบ 5% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนนำเข้าติดลบ 20% เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. -1.3% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.9%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า ในด้านอุปสงค์ การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่บ้าง ขณะที่การส่งออกมีการหดตัวต่อเนื่อง ด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าผลผลิตภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวและควรต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2558 ส่งสัญญาณแผ่วลงเล็กน้อย สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่แม้ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 11.6 ต่อปี แต่ในด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -19.4 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อเดือน
สำหรับ การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -5.4 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 16.3 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ (6.0 ต่อเดือน) และเขตภูมิภาค (14.2 ต่อเดือน) สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่หดตัวลดลงจากร้อยละ -17.8 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้ามาหดตัวลดลงในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ - 10.8 ต่อปี ตามดัชนีผลผลิตสินค้าและราคาสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวลดลง ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -21.1 ต่อปี และหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -9.1 ต่อเดือน
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 65.0 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังคงชะลอตัว
การลงทุนภาคเอกชน ในเดือนพฤษภาคม 2558 ส่งสัญญาณชะลอตัวอยู่บ้าง โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี นับเป็นการหดตัวครั้งในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 ต่อเดือน
สำหรับ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ 2.1 ต่อเดือน ขณะที่ ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน หดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี โดยเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบิน เรือและรถไฟ พบว่า หดตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤษภาคมเบิกจ่ายได้จำนวน 176.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 47.2 ต่อปี และรายจ่ายประจำที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 224.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.3 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2558 จำนวน -10.6 พันล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยมีมูลค่า 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในเดือนพฤษภาคมมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบันที่ยังชะลอตัวส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว สำหรับตลาดส่งออกที่หดตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แอฟริกา และ อาเซียน-9
สำหรับ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว โดยในเดือนพฤษภาคม 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไทย 2.31 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 38.2 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.5 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และมาเลเซีย เป็นหลัก ขณะที่ยุโรปยังคงหดตัว
นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นช่วง 1-21 มิถุนายน 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไทย 1.56 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 53.6 ต่อปี สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลืองที่หดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจากสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตร
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนพฤษาคม 2558 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.54 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี จากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 158.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย