WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GFIMS-สบน. คาด สิ้นปีงบฯ 58 หนี้สาธารณะแตะ44% ของจีดีพี ขณะที่ 8 เดือนแรกกู้เงินชดเชยขาดดุลเข้าเป้า 1.81 แสนลบ.

  สบน. เผยหนี้สาธารณะ สิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 5.7 ล้านลบ. หรือ 43.46% ของจีดีพี คาด สิ้นปีงบฯ 58 หนี้สาธารณะแตะ44% ของจีดีพี  เผย 8 เดือนแรกปีงบฯ 58 กู้เงินชดเชยขาดดุลเป็นไปตามเป้าที่ 1.81 แสนลบ.  ระบุโครงการบริหารน้ำ-สร้างถนน คืบหน้ากว่า 50% คาดสิ้นปีงบฯ58 เบิกจ่ายได้ 10,000 ลบ.  ล่าสุดกำลังเจรจากู้เงินไจก้า ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงเฟส 3 วงเงิน 30,000 ลบ.

  นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 30 เมษายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,775,710.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น 43.46% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 45,191.30 ล้านบาท โดยมองว่าสิ้นปีนี้ หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 44% ของจีดีพี

  “หนี้สาธารณะ เป็นหนี้ในประเทศ 5,430,695.42 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 94.03 และหนี้ต่างประเทศ 345,015.11 ล้านบาท (ประมาณ 10,421.92 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 5.97% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเทียบกับ เงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 161,103.29 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.46% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ”นายธีรัชย์ กล่าว

    สำหรับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 43,306.28 ล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น จำนวน 42,000 ล้านบาท โดย 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค.57-พ.ค.58)  มีการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้ว 181,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้

  นอกจากนี้ ยังมีการกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ 1,437.26 ล้านบาท ประกอบด้วย การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1,274.73 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดง และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) จำนวน 40.21 ล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 จำนวน 122.32 ล้านบาท

  การเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 130 ล้านบาท การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 516.67 ล้านบาท

   สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 6,828.53 ล้านบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและการเบิกจ่ายเงินกู้มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งในเดือนเมษายน 2558   มีการกู้เงินที่สำคัญ ได้แก่ การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการออกหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2558 หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 3,777.27 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

  ด้านหนี้หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,166.24 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานธนานุเคราะห์

  ทั้งนี้ สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 78,044.78 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล จำนวน 63,280.84 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 14,763.94 ล้านบาท โดยการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 63,280.84 ล้านบาท ประกอบด้วย ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 43,373.66 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 3 รุ่น อายุ 5 ปี 15 ปี และ 25 ปี จำนวน 42,000 ล้านบาท การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 130 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 15,393 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศฯ เป็นต้น

    นายธีรัชย์ กล่าวว่า สำหรับการในโครงการบริหารจัดการน้ำขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วมากกว่า 50% และคาดว่าจะสามารถทยอยการเบิกจ่ายได้ในเดือน มิ.ย. นี้เป็นต้นไป โดยคาดว่าในเดือน ก.ค. จะทยอยเบิกจ่ายได้ 3,000 ล้านบาท และสิ้นปีงบประมาณ 58 จะสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท และจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณ 58-59 สิ้นสุดในโครงการปีงบประมาณ 60

  ส่วนการกู้เงินดำเนินการต่อในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่าเจรจากับทางการญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ในการขอกู้ยืมเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะที่ 3 ต่อ ซึ่งเบื้องต้นทางการญี่ปุ่นยังมีความสนใจ เนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!