WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกฤษฎา  จนะวจารณะคลัง เผยยอดจัดเก็บรายได้ 8 เดือนปีงบ 58 (ต.ค.57 -พ.ค. 58) อยู่ที่ 1.37 ล้านลบ. ต่ำกว่าเป้า 4% เหตุ ศก.ชะลอตัว -ราคาน้ำมันดิบลดลงมาก

     นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  “ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 1,370,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 56,523 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1) โดยการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการได้ยื่นชำระภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าที่คาดไว้ (ซึ่งขยายเวลาการชำระภาษีได้อีก 8 วัน) ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้รับผลกระทบจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้ายังได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ ”

  “เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรก ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ดำเนินการบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้เพื่อให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด โดยอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่กระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ” นายกฤษฎา กล่าว

    ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนพฤษภาคม 2558 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558)

     ในเดือนพฤษภาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 224,835 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 74,660 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.9 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.3) ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 1,370,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 56,523 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1)

    1. เดือนพฤษภาคม 2558

     รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 224,835 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 74,660 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.9 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.3) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 72,033 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.5 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 26,897 26,884 และ 9,675 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.1 46.3 และ 14.6 ตามลำดับ โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผู้ประกอบการเปลี่ยนยื่นชำระภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าที่คาดไว้ (ซึ่งขยายเวลาการชำระภาษีได้อีก 8 วัน) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 12,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 83.6) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ไปแล้วในเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา

     อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 6,921 ล้านบาท หรือร้อยละ 127.8 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 4,096 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 เนื่องจากมีการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 จำนวน 7,854 ล้านบาท

    2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558)

    รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,370,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 56,523 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1) โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ ต่ำกว่าประมาณการ 114,785 และ 4,810 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 และ 5.9 ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการ 19,429 12,489 และ 11,743 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.3 13.8 และ 4.1 ตามลำดับ

     ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

     2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,021,830 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 114,785 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.5) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

     - ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 46,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.8) สาเหตุจากการเก็บภาษีจากฐานกำไรสุทธิที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ

     - ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 34,823 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.2) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจำนวน 187,110 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 37,745 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.3) เนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ยังหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ 287,129 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,923 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.8)

    - ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 32,350 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 49.1) เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

     อย่างไรก็ดี อากรแสตมป์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 618 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.2) เป็นผลจากการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขยายตัวดี

     2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 295,314 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,743 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.0) เป็นผลจากภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 34,882 ล้านบาท หรือร้อยละ 79.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 89.4) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

      อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 15,115 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.3) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,949 และ 4,148 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 และ 8.5 ตามลำดับ

      2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 76,990 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,810 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.4) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 5,199 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 6.1 และ 4.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

    2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 103,265 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,489 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

    2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 124,884 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,394 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 32.5) สาเหตุสำคัญจากกองทุนหมุนเวียนนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 10,701 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 เป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 7,854 ล้านบาท และกรมศุลกากรส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ 5,562 ล้านบาท

    สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 4,689 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 35 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.5) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ

    2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 184,379 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,807 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 145,718 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,782 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 38,661 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,025 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4

    2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 7,161 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 761 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9

    2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 9,706 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,764 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4

    2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 9,307 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,393 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0

    2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 5 งวด เป็นเงิน 40,927 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,243 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!