WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

C-SEPOกลศ สมบตศรจ่อขายหุ้นเอกชนใช้หนี้ 7 แสน ล. คลังยันอัตราดอกปัจจุบันสมดุล-รอดูปัจจัยหนุน

    บ้านเมือง : คลังเล็งขายหุ้นบริษัทเอกชนใช้หนี้ 7 แสนล้าน ไม่แตะรัฐวิสาหกิจ ระบุเบรกรัฐวิสาหกิจตั้งบริษัทลูก เร่งคลอดเกณฑ์ชง ซูเปอร์บอร์ด พร้อมยันอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสมดุลแล้ว รอดูปัจจัยแวดล้อมระยะต่อไป อดีตรัฐมนตรีคลัง แนะแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทมากกว่าดอกเบี้ย เชื่อเงินบาทยังอ่อนค่าลงได้อีก มั่นใจเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดีขึ้น

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการศึกษาเกี่ยวกับการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้หนี้ พ.ร.บ.ใช้หนี้ 7 แสนล้านบาท ภายใต้แนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มาคือไม่ใช่การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจสิ่งที่จะพิจารณาขายคือหุ้นในบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในบริษัทเอกชน ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ มีอยู่กว่า 100บริษัท เนื่องจากกิจการเหล่านี้เป็นกิจการเอกชนไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะ

    สคร.กำลังทบทวนว่าจะขายกิจการเหล่านี้หรือไม่อย่างไร เพราะบางกิจการได้มาจากการยึดทำให้คลังต้องเข้าไปถือหุ้น เช่น กิจการ โรงพยาบาล กิจการหินก่อน กิจการนมข้น เป็นต้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้น ก็ควรพิจารณาขายออกไป

    ส่วนมูลค่าอยู่ระหว่างการรวบรวม และคำนวณอยู่ โดยบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถดูจากมูลค่าในตลาดได้ แต่บริษัทที่อยู่นอกตลาด ก็คงจะต้องจ้างบริษัทเอกชนมาประเมินสถานะกิจการ หรือดีลดิลิเจนซ์ โดยอาจจะทำพร้อมกันเป็น 10-20 บริษัท เพื่อจะดูมูลค่าตามบัญชี (บุ๊คแวลู) ควรจะขายราคาใด ราคาตลาด หรือราคาตามบุ๊คแวลู

   นายกุลิศ กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างการจัดทำเกณฑ์การขอจัดตั้งบริษัทลูก และบริษัทหลานของรัฐวิสาหกิจ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ไปดูแลเรื่องการจัดตั้งและดูแลบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ตั้งบริษัทลูกมากมาย แล้วทำธุรกิจโดยที่รัฐไม่เข้าไปดู เพราะท้ายที่สุดผลกระทบก็จะส่งมาถึงตัวรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องนี้ถือเรื่องเร่งด่วนที่ สคร.จะต้องเร่งดำเนินการทำเกณฑ์และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

    ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะกำหนดนั้นในเบื้องต้นจะมี 2 ส่วนคือ 1.เกณฑ์ในการจัดตั้งบริษัทลูก ซึ่งจะดูความจำเป็น ดูว่าต้องไม่ทำธุรกิจแข่งกับแม่ และไม่มีการผูกขาด 2.การกำกับดูแลกิจการที่ได้จัดตั้งไปแล้ว ให้มีประสิทธิภาพ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ซีจี) ไม่ใช่ตั้งแล้วปล่อยไป บางแห่งขาดทุน ทำให้รัฐวิสาหกิจต้องตั้งสำรองชดเชย เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีการตั้งบริษัทลูกหลานมากมาย เกือบ 100 บริษัท สคร.เองไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแลในส่วนนี้ เพราะรัฐไม่ได้ถือหุ้นโดยตรง

   "ขณะนี้ มีรัฐวิสาหกิจ 2-3 แห่งขอตั้งบริษัทลูกรวม 3-4 แห่ง ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีเกณฑ์ในการตั้งบริษัทลูกที่ชัดเจนออกมา"

   นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% เป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมแล้ว เพราะการพิจารณานโยบายการเงินต้องดูเรื่องการแข่งขันของอัตราแลกเปลี่ยน ภาพรวมอัตราดอกเบี้ย และผู้ที่ถือเงินบาทด้วย ซึ่งขณะนี้ถือว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นระดับที่สมดุลแล้ว

   "ดอกเบี้ยไทยในขณะนี้ยังไม่ใช้อัตราที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค และมองว่าอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ที่ 1.5% ถือว่าเป็นระดับทีสมดุลแล้ว แต่ต่อไปจะต้องมีการพิจารณาอีกทีว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะต้องเข้าใจธรรมชาติของนโยบายการเงินด้วยว่า ดอกเบี้ยมันมีทั้งขึ้นและลงได้" รมว.คลัง กล่าว

  นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า เป็นหน้าที่หลักของกรรมการนโยบายการเงิน ในระยะต่อไปที่ควรจะเน้นดูแลค่าเงินมากกว่าดอกเบี้ย และบริหารจัดการค่าเงินให้อ่อนค่าลง เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงได้อีก

    ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่ากำลังฟื้นตัวจากนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุนนักลุงทุนให้มีความเชื่อมั่น ในการขยายกิจการการลงทุน จะส่งผลให้ให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของ GDP ที่หลายองค์กรมีการปรับลดลงนั้น ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะปลายปีที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์การเติบโตไว้สูงเกินไปการปรับลดลงนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

     นายธีระชัย กล่าวถึงการใช้จ่ายของภาคประชาชนว่า ขณะนี้ยังมีปัญหา โดยเฉพาะหนี้ค้างชำระของประชาชนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ใช้จ่ายของประชาชนลดลง หากภาครัฐมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ก็จะส่งผลให้ประชาชนใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่วนเรื่องหนี้ประชาชนนั้น หากปล่อยค้างไว้นานจะส่งผลให้มีปัญหาระยะยาวในอนาคต

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!