- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 13 June 2015 20:42
- Hits: 5237
เร่งคลอด'โฮลดิ้ง'คุมรสก.เกิดแน่ 2559 เน้นดูแลเข้ม'คลัง'แจงโละหุ้นเอกชน
ไทยโพสต์ : อารีย์ *สคร.เร่งทำคลอด'บริษัทโฮลดิ้ง' ต้นปี 59 หวังใช้คุมรัฐวิสาหกิจใหญ่ พร้อมเร่งเครื่องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี คลังยันไม่ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ แต่จะขายหุ้นบริษัทเอกชนที่ถืออยู่
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผย ว่า การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (บริษัทโฮลดิ้ง) จะดำ เนินการเสร็จภายในไตรมาสแรกปี 2559 โดยจะมีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น และรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทจำกัด อาทิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งจะทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ มาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้
นอกจากนี้ การลงทุนของ รัฐวิสาหกิจและบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของบริษัทโฮลดิ้ง จะต้องส่งแผนการลงทุนทั้งหมดให้บริษัทโฮลดิ้งเห็นชอบ โดยไม่ ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับ โครงสร้างของบริษัท โฮลดิ้ง จะมีประธานกรรมการ และกรรมการอีก 7 คน ซึ่งจะมา จากการสรรหาทั้งหมด และมีกรรมการผู้จัดการของบริษัทโฮลดิ้ง เป็นเลขานุการ ซึ่งผลตอบแทนของกรรมการผู้จัดการจะอยู่ระดับ เดียวกับผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างไร ก็ตาม บริษัทโฮลดิ้งยังอยู่ภายใต้ นโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งอีก 4 คน กรรมการที่มา จากตำแหน่ง 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจะมีการตั้งกรรมการคัดสรรอีก 5 คน
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในการประชุม คนร.ที่จะมีขึ้นปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า สคร.จะเสนอหลักเกณฑ์การตั้งและการกำกับดูแลบริษัทลูกของรัฐ วิสาหกิจ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ประมาณเดือน ก.ค. และ ส.ค.นี้ สคร.จะเสนอ แผนยุทธศาสตร์บริหารรัฐวิสาห กิจ 5 ปี ให้ คนร.เห็นชอบ โดยจะแบ่งรัฐวิสาหกิจเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่คงความเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม, กลุ่มรัฐ วิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องลดบทบาท
"ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องลดบทบาทนั้น ก็จะต้องไปพิจารณาวัตถุประสงค์การจัดตั้งว่าภายหลังดำเนินกิจการไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งหรือไม่ หรือมีการดำเนินงานที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในส่วนนี้ก็จะมีการพิจารณาว่าจะยุบ ควบรวม หรือดำเนินการอย่างไร"นายกุลิศกล่าว
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า นโยบายการขายหุ้นในบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ตามนโยบายของนายสมหมาย ภาษี รมว.การคลังนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการหุ้นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็น การหุ้นบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ประมาณ 100 บริษัท เช่น โรงพยาบาล บริษัทหินอ่อน บริษัทผลิตนมข้น ซึ่ง สคร.อยู่ระหว่างประเมินราคาหุ้นทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าไร ในส่วนของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องจ้างที่ปรึกษามาประเมินราคา.
สคร.ทำแผนปฏิรูปรสก.ทั้งระบบ
บ้านเมือง : นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.เตรียมปฏิรูปรัฐวิสาหกิจใหญ่ทั้งระบบ โดยภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้ สคร.จะเสนอแผนยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางรัฐวิสาหกิจ 5 ปี ให้คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา โดยจะแบ่งประเภทรัฐวิสาหกิจตามสภาพระหว่างส่วนที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือส่วนที่ต้องลดบทบาทควบโอนย้าย โดยต่อไป สคร.จะกำกับดูแลเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น การไฟฟ้า การประปา การเคหะแห่งชาติ
ส่วนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในรูปบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติหรือโฮลดิ้งกำกับดูแล เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เข้ามากำกับดูแลจะมาจากการเมือง ข้าราชการประจำ และสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการและภาคเอกชน พร้อมย้ำว่าการจัดตั้งบรรษัทดังกล่าวไม่ใช่เพื่อแปรสภาพรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด แต่เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรัฐวิสาหกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อตอบแทนประชาชนและภาครัฐ
ทั้งนี้ สคร.กำลังยกร่างกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบเดือนกันยายนนี้เพื่อเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เพื่อให้การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในอนาคตมีความโปร่งใส ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการแต่งตั้งบอร์ด เพราะจะมีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ดังกล่าวและต้องมีการประเมินผลงานของบอร์ดด้วยนอกเหนือจากประเมินการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การขอตั้งบริษัทลูกหรือในเครือของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมี 2-3 แห่งขอเข้ามา 3-4 บริษัท ต่อไปจะให้ดูเฉพาะที่มีความจำเป็นและไม่ซับซ้อนกับบริษัทแม่ เพราะที่ผ่านมามีบางแห่ง เช่น ปตท. มีบริษัทลูกนับร้อยแห่งและบางแห่งก็ขาดทุนไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ
นอกจากนี้ สคร.กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลบริษัทเอกชนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นและบริษัทดำเนินธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณะประมาณ 100 บริษัท เช่น หินอ่อน นมข้น เป็นต้น ทั้งบริษัทที่จดทะเบียนใน ตลท. และบริษัทนอก ตลท. ซึ่งจะทบทวนให้ดีว่าจะมีการขายหุ้นในกิจการเหล่านี้หรือไม่ โดยจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัทเอกชน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าจะมีผลกระทบอย่างไร โดยจะต้องดูข้อมูลให้ชัดเจนและแน่ใจที่สุดก่อน พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ภารกิจเร่งด่วน จึงยังมีเวลาพิจารณาอีกมาก
สคร. คาดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติดูแลรสก.ให้มีประสิทธิภาพใน Q1/59
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2559 จะมีการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด อาทิ บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.การบินไทย(THAI) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) เป็นต้น รวมถึงรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทจำกัด อาทิ ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์(ธพส.) เป็นต้น เพื่อให้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้อนุมัติไปเรียบร้อยแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้า อาทิ บมจ.การบินไทย(THAI) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น, การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการขอปรับแผนการเงิน, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) มีการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) อยู่ระหว่างการแยกหนี้ดีและหนี้เสีย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) มีการบริหารจัดการทั้งหนี้เสียและการปล่อยสินเชื่อดีขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ สคร.จะเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารรัฐวิสาหกิจระยะเวลา 5 ปีให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยแนวทางเบื้องต้นจะมีการแบ่งรัฐวิสาหกิจเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องลดบทบาทลง ซึ่งในส่วนนี้จะต้องไปดูตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งและการดำเนินกิจการว่าสอดคล้องกันหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาต่อว่าจะยุบ ควบรวม อย่างไรต่อไป
สำหรับ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2558 ล่าสุดมีจำนวน 1 แสนล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้จะมีรัฐวิสาหกิจส่งรายได้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาทที่จะทยอยเข้ามาในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้
อินโฟเควสท์