- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 04 June 2015 10:25
- Hits: 3424
'สมหมาย'มอง กนง.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอีก ยันไม่ขึ้น VAT ขณะที่ต้องทำงบขาดดุลต่อในปี 60
'สมหมาย'มอง กนง.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอีก หลังปรับลดมา 2 ครั้ง กดบาทอ่อนเพียงพอช่วยภาคส่งออกแล้ว ยันไม่ขึ้น VAT ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เหตุไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชนในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ขณะที่ยอมรับยังต้องทำงบประมาณขาดดุลในงบปี 60 เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก หลังการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ สามารถช่วยภาคส่งออกได้ในระดับหนึ่งแล้ว
"ดอกเบี้ยของเราตอนนี้ถือว่าต่ำติด floor แล้ว และต่ำที่สุดในอาเซียน ถ้าลงมากก็จะกระทบคนออมเงิน ที่ลดมาสองครั้ง ก็ช่วยส่งออกได้ในระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องลดแล้ว" นายสมหมายกล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ มองว่ายังไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นนโยบายที่เฟดต้องดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง มองว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
นายสมหมาย กล่าวว่ายืนยันว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) หลังจากเศรษฐกิจ ไทยยังชะลอตัว โดยคาดว่าในอีก 2-3 สัปดาห์ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อต่ออายุการคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ในภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ส่วนการต่ออายุครั้งต่อไปของปี 60 จะต้องรอดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นอีกครั้ง
ขณะที่ยอมรับว่า ไทยยังจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อในปีงบประมาณ 60 หลังจากในปีงบประมาณ 59 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวให้ได้เร็วที่สุด โดยการจะทำงบประมาณขาดดุลดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปทางด้านโครงสร้างภาษี เพื่อให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าจะเสนอร่างฎหมายดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ใน 2 เดือนข้างหน้า โดยยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะให้มีอัตราต่ำ และไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ การจะเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แนวทางหนึ่งที่จะดำเนินการได้ในขณะนี้ คือ การอุดช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษี ซึ่งยังมีการรั่วไหลค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าอุดช่องโหว่ได้ คาดว่าจะทำให้รายได้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% ของฐานภาษี และทำให้สัดส่วนการจัดเก็บภาษีเพิ่มเป็น 20% ของจีดีพี จาก 17% ในปัจจุบัน โดยแนวทางที่จะดำเนินการ เช่น การเข้มงวดในการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งจะมีการจับชิงรางวัลจากใบกำกับภาษีที่ประชาชนได้รับ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รมว.คลัง ระบุยังไม่ปรับขึ้น VAT ในปี 59 หวั่นกระทบผู้มีรายได้น้อย
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จาก 7% ในปัจจุบัน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย
"ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนจะกล้าเพิ่ม ตอนนี้ดูเศรษฐกิจแล้ว ผมและผู้ใหญ่คุยกันแล้วว่าถ้าขึ้นจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน....คงจะทำเรื่องเสนอ ครม.ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า"รมว.คลัง กล่าว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น รมว.คลัง คาดว่านำจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ภายในอีก 2 เดือน โดยมองว่าในส่วนนี้น่าจะเป็นการช่วยสร้างรายได้จากภาษีได้มากกว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะมีการขยายฐานภาษีเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่รายได้รัฐและภาษีที่จัดเก็บได้รวมกันอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้จะเป็นรายได้จากภาษี 17% ของจีดีพี ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าให้ขยายเพิ่มเป็น 20% ต่อจีดีพีเป็นอย่างน้อย
นายสมหมาย ระบุว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ประเทศไทยยังจำเป็นต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และมองว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) 2 ครั้งติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมาที่มีผลทำให้เงินบาท่อนค่าลงนั้น สามารถช่วยภาคส่งออกได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดในอาเซียนแล้ว จึงมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีก
"ตอนนี้ดอกเบี้ยเราต่ำสุดในอาเซียนแล้ว ถ้าลดอีกคนออมเงินจะอยู่อย่างไร การลดลง 2 ครั้ง ถือว่าช่วยผู้ส่งออกได้ในระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องลดอีก"รมว.คลัง กล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า รัฐบาลยังได้วางแนวทางสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไปไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปด้านการคลังและด้านภาษี 2.การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3.การพัฒนาเข้าสู่ยุค Digital Economy 4.การสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs 5.การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และ 6.การสนับสนุนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
รมว.คลัง ยังกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนความรับผิดชอบกำกับดูและกระทรวงการคลังนี้ จะพยายามสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดีภายในกระทรวง ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาการทำงาน ยกเว้นการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มองว่าจำเป็นต้องนำมาตรา 44 เข้ามาบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง
อินโฟเควสท์