- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 17 May 2015 09:46
- Hits: 3423
คลังเร่งอัดเงิน 6-7 หมื่นล้านเข้ากองทุนหมู่บ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
แนวหน้า : คลังเร่งเติมเงินให้กองทุนหมู่บ้าน หวังอัดเงินเข้าสู่ระบบ 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคของชาวบ้าน ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศขับเคลื่อน ด้านกรุงไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจยังลดลงต่อเนื่อง เหตุกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แต่ยังหวังการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มการลงทุน การจ้างงาน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเติมเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยมาตรการเติมเงินกองทุนหมู่บ้านแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก กองทุนหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานดีและได้เงินเพิ่มทุนระยะที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส.เตรียมวงเงินปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านธนาคารละ 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท ให้ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี โดยกองทุนหมู่บ้านที่ต้องการเงินกู้สามารถเจรจาเงื่อนไขการกู้เงินได้โดยตรงกับธนาคารทั้งสองแห่ง
“ตอนนี้ได้รับรายงานว่าทั้งสองธนาคารมีการปล่อยกู้ไปให้กับกองทุนหมู่บ้านบ้างแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีการปล่อยกู้ได้มากขนาดไหน เพราะถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับ การเติมเงินส่วนที่สอง จะมีการยกระดับกองทุนที่มีปัญหาและยังไม่ได้เงินเพิ่มทุนระยะที่ 3 ให้ได้รับเงินเพิ่มทุนที่มีเงินงบประมาณปีก่อนหน้ากันไว้เรียบร้อย เมื่อรวมเงินทั้งการปล่อยสินเชื่อและเงินเพิ่มทุนจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้านมีทั้งหมด 7.92 หมื่นแห่ง มีเงินทุนหมุนเวียน 2.07 แสนล้านบาท หรือ 10% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีกองทุนหมู่บ้านที่บริหารดีระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) จำนวน 5.98 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในข่ายขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ และมีกองทุนหมู่บ้านระดับพอใช้ (C) และควรปรับปรุง (D) 1.98 หมื่นแห่ง ที่รอรับเงินเพิ่มทุนรอบสาม
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในช่วงไตรมาสแรก พบว่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.53 ตามการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แม้ภาครัฐได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกบั่นทอนจากสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และการส่งออกที่หดตัว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นยังสูงกว่าระดับปกติ (50) และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดวิกฤติการเมือง (49.52) เนื่องจากเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัว อีกทั้งมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อต้นทุนธุรกิจ รวมถึงมีความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการลงทุนภาครัฐ ที่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลัง
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นลดลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อและคุณภาพหนี้ลดลง โดยเฉพาะรายย่อย ส่วนธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจเดียวที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจปศุสัตว์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และผลผลิตขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ผลจากการส่งออกที่โตต่ำกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% เหลือ 3.0-3.5% อย่างไรก็ตาม การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนภาคเอกชนตามมา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตแล้วทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ, บริษัท ไทยเอซแคปปิตอล, บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ, บริษัท สหไพบูลย์ (2558) และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล มาทำการซักซ้อมความเข้าใจในหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติ ตลอดจนช่องทางในการติดต่อประสานงานกับธปท. ซึ่งการอนุญาตให้เปิดธุรกิจดังกล่าวก็เพื่อช่วยให้รายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนลดการพึ่งเงินกู้นอกระบบ และหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ