- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 16 June 2014 23:43
- Hits: 4252
คลัง ชี้โบนัสทอท.11 เดือนเยอะไปให้ทบทวนจี้บอร์ดแบงก์รัฐลาออก
แนวหน้า : ปลัดคลังเสนอ ‘คสช.’ทบทวนโบนัสรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ กรมบัญชีกลาง เตรียมชงเรื่องใช้เร่งหน่วยงานรัฐเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายรังสรรค์ ศรีวรศาตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัตหน้าที่ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกรรมการบางท่านใน คณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ก็ต้องเสนอกรรมการคนใหม่ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป ส่วนกรรมการ ธนาคารรรัฐแบงก์รัฐขณะนี้ยังไม่มีใครยอมลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะขอนโยบายจากทาง คสช. อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงกรรมการในแบงก์รัฐเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ไม่ยาก
โดยก่อนหน้านี้ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ประธานบอร์ด ทอท. และ พล.ต.ต.กฤษณะ ผลอนันต์ พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล และนายวัฒนา เตียงกูล ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ทอท.และทุกตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งจาก ทอท.
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการจ่ายผลตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เนื่องจากพบว่ามีการจ่ายผลตอบแทนให้กรรมการนอกเหนือจากเบี้ยประชุม และโบนัสอยู่หลายรายการ เช่น ค่าตำแหน่งกรรมการ ค่าเลี้ยงรับรอง หลังจากที่ คสช. สั่งให้ตัดสิทธิตั๋วฟรีของกรรมการบินไทย เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายของประเทศ
ดังนั้น คลังจะเสนอ คสช.ให้ทบทวนการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากขึ้น เพราะมีรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสให้พนักงานสูงเกินไป เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูงถึง 11 เดือน ซึ่งถือว่าสูงเกินไปแม้ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ตาม
"การจ่ายโบนัสพนักงานไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดมีหลักเกณฑ์ให้จ่ายโบนัสได้ไม่เกิน 11 เดือน ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน และรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนไม่สามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ ซึ่งจะต้องเข้าไปดูความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง" นายรังสรรค์ กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า นอกจากพบว่า บริษัท ทอท.จ่ายโบนัส 11 เดือน ยังมีธนาคารออมสินจ่ายโบนัส 5.8 เดือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายโบนัส 6-7 เดือน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัส 7 ฯลฯ
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมฯเตรียมเสนอมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายเพิ่มเติมให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา โดยจะไม่ให้หน่วยงานที่เบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ไม่ทันภายในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ย. นี้ กันเงินไว้ไปเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจะเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
โดยที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้เสนอให้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คลัง รับทราบแนวทางดังกล่าว ทั้งข้อดีทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น ข้อเสียหากเป็นโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินการ และเบิกจ่ายไม่ทันก็ต้องไปทำเรื่องของบประมาณปี 2558 ใหม่อีกครั้ง
"การไม่ให้กันงบลงทุนที่เบิกไม่ทันไปใช้ในปีงบประมาณหน้า เป็นเหมือนการให้ยาแรงเพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า โดยที่ผ่านมาได้มีมาตรต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง ซึ่งเสมือนการให้ยาไม่แรง ก็ทำให้การเบิกจ่ายดีขึ้นมาระดับหนึ่ง" นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศทำให้ไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายไม่ได้ จากช่วงรัฐบาลรักษาการมีงบลงทุนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลรักษาการไม่กล้าเซ็นอนุมัติ ทำให้งบลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายไม่ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนระเบียบการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้การเบิกได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น กรณีที่มีผู้เข้าประกวดราคาเพียงรายเดียวให้สามารถทำได้เลย โดยการเรียกเข้ามาต่อรองราคาได้เลย จากเดิมทำไม่ได้ต้องมีการเปิดประมูลใหม่เพื่อให้มีผู้เสนอราคาเข้ามามากกว่า 1 ราย ทำให้หลายโครงการเปิดประมูลกี่ครั้งก็ไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง แบ่งงานกันดูการเบิกจ่ายของแต่ละหน่วยงาน โดยให้ทำงานเชิงรุกเข้าไปให้คำปรึกษากับหน่วยที่รับผิดชอบ จะทำอย่างไรให้การเบิกจ่ายโครงการลงทุนที่ยังค้างอยู่ให้สามารถเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในเดือน ก.ย. นี้ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในฐานะที่อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) และ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.) ก็ได้มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของหน่วยงานต่างๆ ที่มีปัญหาจัดซื้อจัดจ้างสัปดาห์ละกว่า 30 เรื่อง เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างให้ไวที่สุด
สำหรับ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ในขณะนี้เบิกจ่ายรวมได้ 1.12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61.23% เป็นงบลงทุนเบิกจ่าย 1.87 แสนล้านบาท หรือ 46.81% สำหรับเป้าการเบิกจ่ายงบภาพรวมทั้งปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 95% เป้างบลงทุนอยู่ที่ 82% ซึ่งถือว่ายังเบิกจ่ายห่างจากเป้าอยู่มาก
รื้อแผนแจกโบนัสรัฐวิสาหกิจ คลังตะลึงตัวเลขเงินทะลุ 1 หมื่นล.
โพสต์ : พระรามหก *คลังทำข้อมูลเสนอ คสช. รื้อแผนการจ่ายโบนัสรัฐ วิสาหกิจ หลังพบ 1 ปีอัดผลตอบแทนพิเศษรวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาท
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการจ่ายผลตอบ แทนกรรมการรัฐวิสาหกิจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เพราะพบว่ามีการจ่าย ผลตอบแทนให้กรรมการนอกเหนือจากเบี้ยประชุม และโบนัสอยู่หลายรายการ เช่น ค่าตำแหน่งกรรมการ ค่าเลี้ยงรับรอง หลังจากที่ คสช.สั่งให้ตัดสิทธิ์ตั๋วฟรี ของกรรมการบินไทย เพื่อเป็น การประหยัดรายจ่ายของประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ คสช.ให้ทบทวนการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากขึ้น เพราะมีรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสให้พนักงานสูงเกินไป เช่น บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูงถึง 11 เดือน ซึ่งถือว่าสูงเกินไป แม้ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
"การจ่ายโบนัสพนักงานไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกตลาด หลักทรัพย์ เป็นอำนาจของคณะ กรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดมีหลักเกณฑ์ให้จ่ายโบนัสได้ไม่เกิน 11 เดือน ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน และรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนไม่สามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ ซึ่งจะต้องเข้าไปดูความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง"นายรังสรรค์กล่าว
แหล่งข่าวกระทรวงการ คลัง เปิดเผยว่า นอกจากผลตอบ แทนของกรรมการรัฐวิสาหกิจแล้ว ผลตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถให้เงินเดือนพนักงานได้โดยไม่ต้องติดเกณฑ์ของรัฐบาล ทำให้เงินเดือนพนักงานสูง และยังมีการจ่ายโบนัสจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายเงินโบนัสรวมของรัฐวิสาหกิจปีหนึ่งมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ นอกจาก บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัส 11 เดือน ยังมีธนาคารออมสินจ่ายโบนัส 5.8 เดือน ใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายโบนัส 6-7 เดือน ใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัส 7 เดือน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ทั้ง 2 แห่ง มีหนี้เสียแห่งละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ขอกระทรวงการคลังให้จ่ายโบนัส 4 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยจ่ายโบนัส 3 เดือน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จ่ายโบนัส 6 เดือน บริษัท การบินไทย เมื่อปี 2555 พนักงานประท้วงให้จ่ายโบนัส 2 เดือน และขึ้นเงินเดือนอีก 7.5% นอกจากนี้พนักงานบริษัทการบินไทยยังเป็นบริษัทเดียวที่บริษัทต้องจ่ายภาษีรายได้ให้กับพนักงาน ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวต้องมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดค่าใช้จ่ายของประเทศ